Breaking News

“ไอทีดี” เผยแนวโน้มทิศทางการค้าภาคบริการของประเทศไทย

แนะภาคธุรกิจเอกชนวางกลยุทธ์เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ส่วนภาครัฐควรมุ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้การประกอบธุรกิจการค้าภาคบริการได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น


สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี เผยผลการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการค้าภาคบริการของประเทศไทย: สร้างมูลค่าเพิ่มท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง แนะผู้ประกอบการภาคบริการไทยต้องเร่งผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ พร้อมเสนอแนะภาครัฐเร่งสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการค้าภาคบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้มากขึ้น ควบคู่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงดึงดูดนักลงทุนและสนับสนุนให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น


ดร.ปิยะพร เอี่ยมฐิติวัฒน์ รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้แถลงสาระสำคัญของรายงานแนวโน้มทิศทางการค้าภาคบริการของประเทศไทย : สร้างมูลค่าเพิ่มท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” ว่า การค้าภาคบริการ (Trade in Services) มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศในระดับสูง เมื่อพิจารณาอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าภาคบริการต่อ GDP ของประเทศไทย พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้าภาคบริการต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 56.31 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่คิดเป็นร้อยละ 51.07 จะเห็นได้ว่ามูลค่าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น 10.26% ขณะเดียวกัน หากพิจารณามูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของภาคบริการ พบว่า ปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 2.56 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 2.03 แสนล้านบาท จะเท่ากับว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของภาคบริการเพิ่มขึ้น 26.10% (World Bank, 2019) ขณะที่ในปี 2560 องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้รายงานตัวเลขการส่งออกภาคบริการของประเทศไทยพบว่า มีมูลค่าสูงถึง 75,354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 19 ของโลกและเป็นอันดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชีย


ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ทิศทางการขยายตัวและศักยภาพของภาคบริการไทยในรายงานฉบับนี้ ได้นำกรอบแนวคิดและเครื่องมือเชิงวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องมาปรับประยุกต์ใช้ ได้แก่ 1) เมทริกซ์ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบอสตัน (Boston Consulting Group หรือ BCG Matrix) และ 2) เมทริกซ์วิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Thailand Competiveness Matrix หรือ TCM) และอ้างอิงตัวเลขมูลค่าและอัตราการเติบโตเฉลี่ยของการส่งออกภาคบริการไทยจากฐานข้อมูลของ Comtrade ระหว่างปี 2556 – 2560 มาใช้ในการวิเคราะห์ ผนวกเข้ากับข้อมูลจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อนำไปสู่การประเมินถึงสถานะและแนวโน้มของขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสาขาภาคบริการต่าง ๆ ซึ่งจากการประมวลผลการวิเคราะห์ภาพรวมศักยภาพของภาคบริการไทย ภายใต้ทั้ง 2 เมทริกซ์ข้างต้น สามารถสรุปประเด็นเชิงวิเคราะห์ที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าภาคบริการของไทยได้ ดังนี้

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบพลิกผัน (Disruptive Technology) ทำให้ธุรกิจภาคบริการต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือในประเด็นต่าง ๆ ที่กระทบต่อธุรกิจภาคบริการของประเทศ ผู้ประกอบการของภาคบริการต้องเร่งผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าภาคบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้มากขึ้น ทั้งนี้ สาขาภาคบริการที่มีแนวโน้มสามารถใช้ศักยภาพด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ประกอบด้วย บริการท่องเที่ยว บริการค้าส่งค้าปลีก (ในรูปแบบของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริการการศึกษา บริการสุขภาพ บริการที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา บริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอุบัติใหม่ บริการการเงิน และบริการโทรคมนาคม-คอมพิวเตอร์-ไอที 


ขณะที่ในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) และด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนและกระบวนการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าในภาคบริการมากยิ่งขึ้น การกำกับดูแลและติดตามผลการเจรจาตามความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าภาคบริการ อาทิ ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA) เป็นความตกลงการค้าบริการอาเซียนฉบับใหม่ที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและกำหนดกฎเกณฑ์และกติกาด้านการค้าบริการให้เกิดความชัดเจนและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แทนกรอบความตกลง AFAS โดยความตกลง ATISA มุ่งก่อให้เกิดการเปิดเสรีการค้าบริการอย่างแท้จริง พร้อมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงดึงดูดนักลงทุนและสนับสนุนให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ การค้าภาคบริการมีแนวโน้มจะดำเนินการผ่านระบบดิจิทัล เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงระบบการค้าภาคบริการแบบดิจิทัล ดังนั้น ประเทศจึงต้องเริ่มหันมามุ่งเน้นการบริการทางดิจิทัลให้สามารถเข้าถึงระดับท้องถิ่นและชุมชนโดยเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อประชาชนและท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้ จะนำไปสู่การพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้นต่อไป 


ในส่วนของ SMEs ไทย ยังคงประสบปัญหาในภาคบริการจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ เนื่องจาก SMEs ยังไม่สามารถใช้ศักยภาพจากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้เท่าที่ควร จึงทำให้ปริมาณการเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ธุรกิจบริการที่มีชาวต่างชาติเข้ามาแข่งขันจำนวนมากก็จะยิ่งส่งผลต่อการดำเนินงานของ SMEs ไทย โดยเฉพาะการขาดความพร้อมด้านการบริหารจัดการ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการจัดส่งเอกสาร หากไม่ดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น อาจเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อทำให้การจัดส่งและตรวจสอบเอกสารเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บทบาทของ SMEs จะยังคงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการค้าภาคบริการไทยในระยะยาวต่อไป โดยเฉพาะบริการท่องเที่ยว บริการค้าส่ง-ค้าปลีก บริการวิชาชีพ บริการการศึกษา และบริการสุขภาพ ขณะเดียวกัน การเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพมีความสำคัญต่อการค้าภาคบริการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปัตยกรรม นักการบัญชี แต่ในช่วงที่ผ่านมา แม้ได้มีการทยอยเปิดเสรีในระดับอาเซียนไปแล้วตามกรอบข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreements: MRAs) สาขาแรงงานวิชาชีพเหล่านี้ยังดำเนินการเปิดเสรีได้ค่อนข้างน้อยในความเป็นจริง เนื่องจากประเทศไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว รวมถึงหากพิจารณาสาเหตุของปัญหาอาจมาจากข้อจำกัดของตลาดแรงงานในการจัดจ้างแรงงานวิชาชีพรวมถึงภาวะสมองไหล (Brain Drain) ของแรงงานวิชาชีพไทยไปยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างสูงกว่า 

ขณะที่ในปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้าน (อาทิ เวียดนามและมาเลเซีย) มีการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพ ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพ เช่น วิชาชีพบัญชี ยังมีข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพตามกรอบความตกลงการเปิดเสรีที่ได้บรรลุผลการเจรจาเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากนักบัญชีส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยวิธีการอื่น เพื่อเข้าไปร่วมงานเป็นผู้จัดทำบัญชีของบริษัทต่างประเทศ เพราะมีความสะดวกมากกว่าการเคลื่อนย้ายภายใต้กรอบความตกลงการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพ ซึ่งมีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีการทบทวนแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้การเปิดเสรีการค้าภาคบริการด้านแรงงานวิชาชีพเป็นไปโดยเสรีอย่างแท้จริง และในท้ายที่สุด ภาคบริการด้านการเงินและประกนภัยของประเทศไทยยังเป็นรองหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งค่อนข้างมีความพร้อมมากกว่าประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาประเทศกลุ่ม CLMV ประเทศไทยยังถือว่าได้เปรียบ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในธุรกิจด้านการเงินมากยิ่งขึ้น เช่น บล็อกเชน (Block Chain) พร้อมเพย์ (Prompt Pay) คิวอาร์โค้ด (QR Code) ซึ่งประเทศไทยมีการส่งเสริมประเด็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก 


ดร.ปิยะพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากบทวิเคราะห์ดังกล่าวสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 7 ประเด็น ได้แก่ 1) การสร้างมูลค่าเพิ่มกับธุรกิจภาคบริการที่มีศักยภาพสูง จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมและเทคโนโลยีที่สำคัญ ทำให้ประเทศไทยควรส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มกับธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีศักยภาพสูง 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม และธุรกิจบริการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 2) การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ ภาครัฐ ควรมีการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การประกอบธุรกิจการค้าภาคบริการได้รับความสะดวกและรวดเร็ว 3) การกำกับดูแลและติดตามความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าภาคบริการ การกำกับดูแลและติดตามผลการเจรจาตามกรอบความตกลงด้านการค้าภาคบริการในสาขาต่าง ๆ ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจะนำมาซึ่งการวางแผนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับความตกลง 4) การค้าภาคบริการผ่านระบบดิจิทัล ภาครัฐโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ.2561-2564 ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลติดตามผลและส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 5) การเตรียมความพร้อมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการควรพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจ 6) การเปิดเสรีการค้าภาคบริการด้านแรงงานวิชาชีพ สาขาวิชาชีพที่เปิดเสรีเป็นสาขาวิชาชีพที่ความรู้และทักษะค่อนข้างสูง การเจรจาในอนาคต ควรส่งเสริมบทบาทขององค์กรวิชาชีพให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับภูมิภาค เพื่อให้ข้อตกลงสามารถบรรลุเป้าหมายและยอมรับร่วมกัน และ 7) การบริการด้านการเงินและประกันภัย ด้านบริการทางเงินและประกันภัยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งพัฒนาระบบและบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) วิทยาการข้อมูล (Data Analytics) บล็อกเชน (Block Chain) การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) เนื่องจาก การจัดการข้อมูลและความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินการของธุรกิจบริการทางการเงินและประกันภัย

ไม่มีความคิดเห็น