Breaking News

ผุดไอเดียโครงการ MUN มันมาก ช่วยผู้ปลูกมันสำปะหลัง หวังดึงคนทำงานในเมืองกลับท้องถิ่น


กลุ่มเกษตรกรผุดไอเดียใหม่ช่วยเหลือผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างครบวงจร ทำโครงการตัวอย่าง MUN มันมาก ใช้ความรู้ทันสมัยผสมผสานวิถีการทำเกษตรเดิม เพื่อยกระดับของเกษตรกรในพื้นที่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และขายหน้าโรงงานได้ราคา หวังดึงคนทำงานในเมืองใหญ่กลับถิ่นฐานเดิม


นายดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม เจ้าของไร่นายทองก้อน ผู้ริเริ่มโครงการ MUN มันมาก เปิดเผยว่า ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่คือขาดองค์ความรู้ในการบำรุงรักษา ทำให้ผลผลิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้ผลผลิตไม่เกิน 3 ตันต่อไร่ มีรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่ายา ค่าปุ๋ย ประมาณ 6000 บาทต่อไร่ ถือเป็นรายได้ที่น้อยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

สื่อต่าง ๆ บอกว่า ปีนี้ 30% ของประชาชนที่จบ ปริญญาโท ปริญญาเอก ไม่สนงานในเมืองใหญ่ กลับมาอยู่บ้านเพื่อทำเกษตรกรรม โครงการ MUN มันมากนี้ ทำขึ้นเพื่อให้ทุกคนกลับบ้านและมีรายได้ และให้อยู่กับถิ่นฐานเดิมให้ได้ KPI ตัววัดความสำเร็จ คือ เมื่อไรที่ถนนมิตรภาพรถไม่ติดตอนสงกรานต์ ก็แสดงว่าอยู่บ้านกันแล้ว นั่นแหละคือตัวชี้วัด

โครงการ MUN มันมาก เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังลดการใช้สารเคมี ช่วยลดต้นทุน และลดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่สำคัญสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นด้วย โดยจากเดิมระยะเวลาเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอยู่ที่ 10 เดือน แต่การปลูกของโครงการ MUN มันมาก จะลดเวลาลงเหลือ 7-8 เดือน และจากที่เคยได้ผลผลิตอยู่ที่ 3 ตันต่อไร่ ก็เพิ่มได้ถึง 6-7 ตันต่อไร่ หรืออาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสภาพดินของแต่ละพื้นที่เพาะปลูก

นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วลิสงแทรกระหว่างร่องมันสำปะหลังไปด้วย เพราะต้นถั่วจะปกคลุมพื้นดินไว้ ช่วยไม่ให้หญ้าที่เป็นศัตรูพืชของต้นมันสำปะหลังขึ้นในแปลง ไม่ต้องเสียเงินใช้ยาฆ่าหญ้า และดินยังได้ไนโตรเจนจากปมรากถั่วอีกด้วย ที่สำคัญสามารถเก็บเกี่ยวถั่วไปขายเป็นรายได้ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอีกด้วย

โครงการของเราใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ถ้าจะปลูกถั่วจะปลูกพร้อมมัน ก่อนที่ใบของมันจะชนกัน เริ่มชนกันก็คือ 3 เดือน หรือ 90 วัน ก่อนที่ใบมันจะชน ถั่วก็พร้อมเก็บแล้ว และเราก็ไปเก็บถั่วขายก่อน พอเวลาถอนต้นถั่วขึ้นมา ใบมันก็ปกคลุมพอดี ไม่ต้องฉีดยาฆ่าหญ้า แต่เดิมนั้นปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ในช่วงปลูกมัน 3-4 เดือน เกษตรกรจะต้องไปกู้เงิน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 แต่ถ้าปลูกถั่วจะได้รายได้เพิ่มไร่ละ 2,000 บาท พออีก 4 เดือนต่อมาก็ไปถอนมัน ปลูกข้าวโพด และหลักจากนั้นอีก 4 เดือน ก็ไปเก็บข้าวโพด มันสำปะหลัง 1 ไร่จะได้ผลประมาณ 6-7 ตัน ราคา ณ โรงงาน รับซื้อกิโลกรัมละ 2.60 บาท แต่ปริมาณแป้ง ที่บอกว่ามีความสำคัญ ราคาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ละ 0.08 สตางค์ เมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าปุ๋ย เกษตรกรก็ยังเหลือ หักค่าลงทุนสุทธิเหลือเงิน 10,000 บาท พื้นที่ 20 ไร่ จะได้เงินประมาณ 2 แสนบาทต่อปี เฉพาะมัน ไม่รวมถั่ว ไม่รวมข้าวโพดนายดำรงศักดิ์ กล่าว


นอกจากนั้นยังนำเทคโนโลยี โดรน มาใช้ในการฉีดพ่นสารอาหารและยาฆ่าแมลงที่เป็นออร์แกนิก ซึ่งช่วยลดเวลาและลดต้นทุนในการให้สาสรอาหารต้นมันสำปะหลังของเกษตรกร โดยปรกติใช้แรงงานคนในการฉีดพ่นจะต้องใช้คนประมาณ 3 คนต่อไร่ต่อวัน ค่าแรงตกอยู่ที่คนละ 300 บาท แต่การใช้เทคโนโลยีโดรนในการฉีดพ่น กับ 10 ไร่ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที โดยอัตราค่าฉีดนั้นอยู่ที่ 150 บาทต่อไร่ ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้มาก

นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า “ปีนี้เกษตรกรมีความสุขในการปลูกมันสำปะหลังเพราะราคามันสูงมาก ราคาป้ายหน้าโรงงานรับซื้อ 3.50 บาท ราคาแป้งก็สูงขึ้นเป็น 3.50 บาท ซึ่งไม่รับซื้อเฉพาะเกษตรกรอย่างเดียวแต่รับซื้อจากลานมันด้วย อะไรที่มันต่ำเกินไปก็ไม่ยั่งยืน อะไรที่มันสูงเกินไปก็ไม่ยั่งยืน ส่วนความยั่งยืนจริง ๆ คือถึงแม้เราเพิ่มผลผลิตต่อเนื่องไม่ได้ ต่อให้ราคาเท่าไร เราก็ยังมีกำไรอยู่ในกระเป๋า

ในวันนี้ถ้าเป็นไปได้เราจะพัฒนา application ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เราต้องกลับมาในพื้นที่เพื่อสอบถามว่าจริงๆ แล้วเขาอยากได้อะไร ซึ่งเป็นไปตามที่อาจารย์ดำรงศักดิ์แนะนำมา มันจึงเป็นที่มาของโครงการ MUN มันมาก เพื่อให้เกษตรกรได้ตัดสินใจที่จะส่งสินค้าหรือว่าผลิตภัณฑ์ของตนเอง ไปให้กับโรงงานในราคาที่ตนเองพึงพอใจที่สุดและประหยัดที่สุด สิ่งที่เราสร้างได้ก็คือ เรามีความเข้มแข็ง ในด้านต่างๆ มาช่วยเหลือเกษตรกรได้บางส่วนไม่มากก็น้อย จะทำให้สามารถยกระดับของเกษตรกรในพื้นที่ได้ เพิ่มผลผลิต ราคา ลดต้นทุนการผลิต และขายหน้าโรงงานได้สมราคานางธิดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น