Breaking News

อย. อนุมัติไซบอร์กการแพทย์ ตัวแรกของประเทศไทย ช่วยรักษาอาการป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต


21 เมษายน 2563 กรุงเทพฯ​ – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อนุมัติระบบขาไซบอร์กสำหรับการแพทย์เพื่อการกายภาพบำบัด (Cyberdyne’s HAL Lower Limb Type Medical Rehabilitation Exoskeleton that utilizes Cyborg Technology) ตัวแรกของประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ไซเบอร์ดายน์ จำกัด (มหาชน) (CYBERDYNE, Inc.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไซบอร์กดังกล่าวรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์กรุงโตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ว่า “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ไซบอร์กได้ในการบำบัดรักษาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก, ไขสันหลังบาดเจ็บ และ อาการป่วยต่าง ๆ จากโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ


ในเอกสารแถลงของไซเบอร์ดายน์ยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดอุปกรณ์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสามารถด้านการแพทย์ไม่เป็นรองใครในระดับแนวหน้าของโลก จึงทำให้ผู้ป่วยจากทั่วโลก รวมทั้งจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเดินทางมารักษายังประเทศไทย

การแถลงดังกล่าวทำให้หุ้นของบริษัท ไซเบอร์ดายน์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในดัชนีนิเกอิ (Nikkei) ทะยานขึ้นทันทีต่อการได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ไซบอร์กรักษาผู้ป่วยได้ในประเทศไทย นอกจากนี้ ไซเบอร์ดายน์ยังระบุด้วยว่า บริษัท ซิกเนเจอร์ โรโบติกส์ จำกัด (Zignature Robotics Co., Ltd.) ซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทยกำลังดำเนินการขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมอาหารและยาเพื่อขออนุมัติให้ใช้ไซบอร์กระบบอื่น ๆ ได้อีก เช่น ไซบอร์กระบบข้อต่อของร่างกาย (HAL Single Joint Type)


นายกฤษณ์ คุนผลิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกเนเจอร์​ โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่า “ไซบอร์กเป็นระบบที่เชื่อมต่อระหว่างอิเล็กทรอนิกส์และระบบสมองและประสาทของมนุษย์ คนไข้อัมพฤกษ์ อัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เนื่องจากระบบประสาทการสั่งการเสียหาย สามารถที่จะสั่งการผ่านไซบอร์กทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง การฝึกเป็นประจำจะทำให้ระบบประสาทเชื่อมต่อกันอีกครั้งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า neuroplasticity ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่คนไข้จะสามารถเคลื่อนไหวหรือเดินได้ด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง


นายกฤษณ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลและบริษัทประกันที่ลงนามทันทีที่ทราบข่าวการอนุมัติของ อย. โดยที่ บริษัท ซิกเนเจอร์ โรโบติกส์ มีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้คนไข้ในประเทศไทยและที่เดินทางมารักษาจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการรักษาที่ล้ำสมัยที่สุดของโลกในด้านกายภาพบำบัดนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้าน ดร. นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กล่าวว่า “การเลือกประเทศไทยเป็นฐานในการขยายธุรกิจของบริษัท ไซเบอร์ดายน์ จำกัด (มหาชน) เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เนื่องจาก รัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ในระดับโลก”


บริษัท ไซเบอร์ดายน์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดย ศ. ดร. โยชิยูกิ ซานไค (Prof. Dr. Yoshiyuki Sankai) ไซเบอร์ดายน์ถือได้ว่า เป็นบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นและโลกในด้านการวิจัย พัฒนา และ ผลิตหุ่นยนต์ เอไอ และ ไซบอร์กที่เชื่อมต่อระหว่างอิเล็กทรอนิกส์และระบบประสาทและสมองของมนุษย์ ไซเบอร์ดายน์ขยายธุรกิจไปทั่วโลก รวมถึง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และ ประเทศไทย ในปี 2561 นิตยสารฟอร์บส์ (FORBES) จัดอันดับให้ ดร. ซานไค เป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับที่ 40 ของประเทศญี่ปุ่น สนใจข้อมูล และรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ https://www.facebook.com/ZignatureRobotics/ หรือ https://www.zignature-robotics.com


ไม่มีความคิดเห็น