Breaking News

กรมการพัฒนาชุมชน เปิดหลักสูตรยกมาตรฐานโอทอปไทย สู่สินค้าพรีเมี่ยมตีตลาดโลก

กรมการพัฒนาชุมชน นำทัพผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์-การตลาด เปิดหลักสูตรพัฒนา Quadrant D ติวเข้มผู้ผลิตโอทอป กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 475 รายทั่วประเทศ ยกระดับเป็นสินค้าพรีเมี่ยม สร้างแบรนด์พร้อมจับคู่ธุรกิจ เปิดช่องทางโกยเงิน ทั้งในและตลาดต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก


นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนเปิดโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP จากการขาดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ อย่างครบวงจร ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่โด่นเด่นและสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ รวมทั้งมีปัญหาการพัฒนาสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าได้ในปริมาณน้อย หรือไม่ได้เลย หรือจำหน่ายได้ในราคาต่ำส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ

โครงการดังกล่าวเปิดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 475 ราย ทั่วประเทศ เข้ารับการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างตราสินค้าและด้านการตลาด ภายใต้แนวคิดหลักการตลาดนำการผลิต “ดูดีมีสไตล์” ทั้งสิ้น 14 หลักสูตร ในรูปแบบบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E -Learning) บนระบบออนไลน์ของ Line Official Account : Tamdeemark ซึ่งสามารถกลับมาดูซ้ำเพื่อทำความเข้าใจได้ตลอดเวลา และสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านระบบดังกล่าวได้ นอกจากนั้นการอบรมจะมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ 1 ท่านรับผิดชอบผู้ประกอบการจำนวน 15-20 ราย โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 150 วัน

“กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP มีความสำคัญต่อรากฐานทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน เห็นปัญหาของกลุ่มนี้โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การพัฒนาหรือ Quadrant D ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ เพราะได้รวมผู้เชี่ยวชาญจริงมาถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์โดยตรงที่หาจากที่ไหนไม่ได้ ภายใต้แนวคิดการอบรมที่ยึดหลักการตลาดนำการผลิต และสิ่งที่สำคัญคือการที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้จริง” นายวรงค์ กล่าว

สำหรับหัวข้อของการอบรมตามโครงการดังกล่าวถูกออกแบบให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของการบริโภค สังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญนำไปปรับใช้ได้จริงกับผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลักคือ ด้านการตลาด ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการขาย

การอบรมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น หัวข้อ พลิกโฉมเพิ่มแนวคิด เปลี่ยนชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ขายดีมีกำไร ต่อยอดวัตถุดิบชุมชนและตอบโจทย์คนยุคใหม่ และหัวข้อ ต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ด้วยการตลาดนำการผลิต

การอบรมด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขาย เช่น หัวข้อ สร้างตัวตนให้อยู่บนบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สวย ก็รวยแล้ว และบรรจุภัณฑ์ยุคใหม่โดนใจลูกค้า สำหรับการอบรมในด้านการตลาด ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ เช่น หัวข้อ ยุคโควิดค้าขายแบบไหนให้รุ่ง ชี้ช่องรวยด้วยออนไลน์ แปลงร่างสร้างแบรนด์ และปั้นยอดขายด้วยภาพถ่ายสุดปัง

นายวรงค์ กล่าวว่า การอบรมตามโครงการดังกล่าว ยังออกแบบให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฎิบัติงานจริงผ่านการพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบ โดยจะคัดเลือกจากสินค้าที่มีการพัฒนาจนโดดเด่นทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จำนวน 48 รายการจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กิจกรรมทดสอบตลาดจริง โดยการจัดแสดงและจัดจำหน่ายในศูนย์การค้าชั้นนำระดับประเทศ ในธีม “มีดีมาร์เก็ต” และในจำนวนสินค้าดังกล่าว กรมการพัฒนาชุมชนจะคัดเลือกให้เหลือ 10 รายการเพื่อมอบรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ Queen of D พร้อมจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดจำหน่ายในช่องทางที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบหน้าร้านและช่องทางการตลาดออนไลน์อีกด้วย 

อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านการอบรม ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปพัฒนาศักยภาพคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรได้จริง จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมให้มีมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ระบบตลาด และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดภายในและต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งเศรษฐกิจหลักของประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงของกรมการพัฒนาชุมชน


ไม่มีความคิดเห็น