วช. - มข.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และ ผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดินเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการบำบัดเสริมโรคเมลิออยด์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการบำบัดเสริมโรคเมลิออยด์ เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคเมลิออยด์ ลดอัตราการเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย
ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ดำเนินโครง การระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และ ผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจาก “โรคเมลิออยด์” ชาวบ้านยังไม่รู้จัก ทั้งยังไม่รู้วิธีการป้องกัน เชื้อโรคดังกล่าวเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในดินและน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนมาก เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง เมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 40% และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ระหว่างปี 2553 - 2558 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ที่มีผลเพาะเชื้อยืนยันอย่างน้อยปีละ 1,700 ราย เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 700 ราย ล่าสุดปี 2563 และ 2564 มีผู้ป่วย 2,793 และ 2,191 รายตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัย นำโดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน ศ.พญ.เพลินจันทร์ เชษฐโชติศักดิ์ ศ.ดร.รศนา วงศ์รัตนชีวิน รศ.ดร.โสรัจสิริ เจริญสุดใจ รศ.ดร.เกียรติไชย ฟักศรี ผศ.ดร.พฤกษา หล้าวงษา ผศ.ดร.สกาวรัตน์ กันทะวงศ์ ผศ.ดร.อุมาพร ยอดประทุม ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ เจริญสุดใจ ผศ.ดร.พิพัธน์ เรืองแสง ผศ.ดร.รัฐพล ไกรกลาง ดร.ศรัญญา ตันติยาสวัสดิกุล ด้วยความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายวิจัยของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้พัฒนาชุมชนต้นแบบหมู่บ้านหนองหญ้ารังกา อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างความรู้เน้นการป้องกันโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อ และได้สร้างโมเดลการพยากรณ์โรคต้นแบบ ชนิด web-based application โดยนำข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อจากทั้งคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม กว่า 500 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ สร้างโมเดลเพื่อทำนายพื้นที่ที่จะพบเชื้อ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ค้นพบแบคทีเรียรูปแท่งไม่ก่อโรคที่พบในดินธรรมชาติ แต่สามารถผลิตสารฆ่าเชื้อก่อโรคได้ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สองชนิด ชนิดแรกคือสปอร์ของแบคทีเรีย เพื่อใช้ฉีดพ่นใส่ดินร่วมกับปุ๋ยขณะปลูกข้าว หรือพืชอื่น ๆ ในแหล่งที่มีการพบเชื้อก่อโรคในดิน และผลิตภัณฑ์อีกชนิดคือ การนำสารดังกล่าวมาผลิตเป็นสเปรย์ผิวที่กันน้ำ เพื่อใช้สเปรย์มือและเท้าป้องกันการติดเชื้อ มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า 98%
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบเชื้อดื้อยา หรือเชื้อสายพันธุใหม่ อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาสารเสริมฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ โดยใช้ เปปไทด์ต้านจุลชีพ ไคโตซานนาโน และแบคเทอริโอเฟจ โดยพบว่าสารทั้ง 3 ชนิด สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ที่ดื้อยาและทำลายการสร้างแผ่นฟิล์มชีวภาพ(ไบโอฟิล์ม) ของเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะนำสารเสริมฤทธิ์นี้มาพัฒนาเป็นครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคเมลิออยด์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และสัตว์ทดลอง เพื่อดูประสิทธิภาพของสารและความปลอดภัย ก่อนที่จะนำไปทดสอบกับอาสาสมัคร และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เสริมการรักษาในประชากรของชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น