Breaking News

คณะท่องเที่ยวฯ มธบ. เผยผลกระทบจากโควิด-19 ทำพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป พร้อมแนะท่องเที่ยวแนวใหม่แบบคาร์บอนต่ำด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ชี้ตอบโจทย์ยุค New normal และเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ


นางสาวยุวรี โชคสวนทรัพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)
เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังไม่จบลงง่าย ๆ แต่รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ตามระบบห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกันคนไทยเองเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ด้วยความระมัดระวัง จากที่เคยถูกจำกัดพื้นที่ จำกัดการเดินทาง จึงเริ่มหันกลับมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอีกครั้ง แต่พฤติกรรมในการท่องเที่ยวกลับเปลี่ยนไป โดยนักวิชาการได้ทำการวิจัยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า คนไทยจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ นิยมการเดินทางด้วยรถส่วนตัว เลือกไปในสถานที่ Unseen ผู้คนไม่พลุกพล่าน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นางสาวยุวรี โชคสวนทรัพย์
ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวแบบตอบโจทย์ยุค New normal หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ จะเป็นส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างดี ดังนั้น คณะฯ จึงจัดทำโครงการบริการวิชาการ “เปิดมุมมองใหม่ไปกับสกูตเตอร์ ตอน หลงรักบางกอก บอกรักเจริญกรุง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism-RT) ในรูปแบบสกูตเตอร์ไฟฟ้า นอกจากจะลดมลภาวะ ยังสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายและทั่วถึง เชื่อมโยงกับการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการแก่สังคม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ และเขตพระนครของกรุงเทพมหานคร โครงการนี้จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 20 คน

มัสยิดฮารูณ
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

จุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ที่สร้างความน่าสนใจในรายการนี้ คือการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย อันประกอบด้วยชุมชนนานาชาติ ร้านอาหารพื้นถิ่น และความเป็น ‘แห่งแรก’ ในเมืองไทย อาทิ ถนนสายแรก เส้นทางรถรางสายแรก โรงแรมแห่งแรก ประกอบกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา กำหนดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตั้งแต่ท่าเรือสาทรสู่คลองโอ่งอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ อาทิ ศาลเจียวเองเบี้ยว มัสยิดฮารูณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โบสถ์กาลหว่าร์ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดอุภัยราชบำรุง รวมถึงการรับประทานอาหารสไตล์อินเดีย-ปากีสถาน เพื่อสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านเจริญกรุง การเยี่ยมชมสถานที่ ถ่ายภาพอาคารตึกเก่า วิถีชีวิตบนถนนเจริญกรุง โดยเชื่อมโยงเข้ากับงานสตรีทอาร์ต แสดงให้เห็นศักยภาพในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์และแหล่งการค้าที่เคยรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

วัดประทุมคงคา
วัดอุภัยราชบำรุง

ทำไมต้องเป็นสกูตเตอร์ไฟฟ้า
สกูตเตอร์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกของการใช้พาหนะเดินทางที่รวดเร็วกว่ารถจักรยาน คล่องตัวกว่ารถจักรยานยนต์ มีความสะอาดกว่าและปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีขนาดกะทัดรัด สะดวกในการจัดเก็บไม่ขวางทางเท้า อีกทั้งยังสามารถเว้นระยะห่าง ตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในสถานการณ์เช่นนี้ และเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ทั่วถึงกว่า ด้านความปลอดภัยของพาหนะเดินทางชนิดนี้ มีความเร็วสูงสุดประมาณ 20 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง นับว่าเป็นการจำกัดความเร็วอยู่ในระดับที่เหมาะสม สกูตเตอร์สามารถวิ่งได้ต่อเนื่องในระยะทางไม่เกิน 25 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางที่จัดขึ้นแม้จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ก็อยู่ระยะทางเพียงแค่ 7 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้หมดความกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดเสียก่อน


การเดินทางรูปแบบนี้เป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน เรียนรู้ได้ง่ายดาย เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย แม้เพิ่งได้ลองขับขี่เป็นครั้งแรก เสียงตอบรับของผู้ร่วมโครงการซึ่งเป็นสตรีอายุ 76 ปีท่านหนึ่ง กล่าวว่า “ขอบคุณคณะผู้จัดที่จัดโครงการดี ๆ และแปลกใหม่ แบบนี้ขึ้นมา นอกจากได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ยังได้ลองขี่สกูตเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งมีความสุขและประทับใจมาก” ดังนั้น อายุจึงไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อการขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้า 


อาจารย์ยุวรี กล่าวในตอนท้ายว่า
การทำทัวร์ด้วยสกูตเตอร์สำคัญที่การจัดการ แม้ว่าการท่องเที่ยวด้วยสกูตเตอร์จะสะดวกรวดเร็ว แต่ถนนหนทางในกรุงเทพฯ หลายเส้นทางผิวถนนไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนบางสายที่รถหนาแน่นอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่ให้บริการท่องเที่ยวรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีการจัดการและการวางแผนการเดินทางเป็นอย่างดี อาทิ การเตรียมความพร้อมเพื่อใช้งานของสกูตเตอร์ทุกคัน การเตรียมสกูตเตอร์สำรองที่เพียงพอหากเกิดความขัดข้องทางเทคนิค การติดต่อประสานงานกับแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุดเพื่อจัดหาที่จอดสกูตเตอร์ที่ปลอดภัย การเลือกใช้เส้นทางที่มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และต้องมีจำนวนทีมงานที่เพียงพอต่อการดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง โครงการบริการวิชาการของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมในครั้งนี้ ได้พันธมิตรที่เป็นมืออาชีพในการจัดการ ทั้งด้านวิชาการ จาก อ.ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และพันธมิตรด้านวิชาชีพ จาก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยสกูตเตอร์ Scoot de Urban กล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวโดยสกูตเตอร์เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้มีความทันสมัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและสามารถเพิ่มคุณค่าของการท่องเที่ยวโดยให้ความรู้ทางวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จะทำให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น