Breaking News

CITE DPU ชี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Digital Disruption แนะต้องรีบปรับตัว Re-skill - Up-Skill ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง


ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU
เปิดเผยว่า กระแส Digital Disruption จะมีมาอีกเรื่อย ๆ และการทำ Digital Transformation จะเป็น Key Word สำคัญที่เราได้ยินกันต่อไปอีกนาน อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งค่อนข้างจะแน่ชัดแล้วว่ามนุษยชาติต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคนี้ไปอีกนาน การอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เปรียบเสมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เราได้มีประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ทำให้ทุกวันนี้เราต้องใช้ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและระบบสารสนเทศต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การใช้งานแอพพลิเคชั่นหรือเซอร์วิสต่าง ๆ บนระบบ Cloud มากขึ้น รวมทั้งระบบประมวลผลบนระบบ Cloud ที่มีความสามารถมากขึ้น การทำงานจากที่บ้านหรือระยะไกลหรือ Work From Home การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การส่งสินค้าและอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น การประยุกต์ใช้งาน AI (Artificial Intelligence) ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น การใช้งานวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data Analytics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายหรือการผลิต เป็นต้น


ดร.ชัยพร กล่าวว่า
ในอีกไม่นานเราก็จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล การเก็บสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน NFT (Non-Fungible Tokens) จะกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างมักมี 2 ด้านเสมอ เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจมีด้านที่ส่งผลด้านลบต่อผู้ใช้งานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โลกโซเชียลมีเดียมักมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บไปมักถูกนำไปใช้เพื่อขยายผลทางธุรกิจโดยที่เจ้าของไม่ได้ยินยอม หรือการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีต่อระบบสารสนเทศของเป้าหมายเพื่อขโมยข้อมูลต่าง ๆ หรือการก่ออาชญากรรมโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เช่น การหลอกโอนเงินออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อกำกับควบคุมการใช้งานเทคโนโลยี สร้างสมดุลระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน รวมทั้งเตรียมการรับมือที่ดีเมื่อเกิดภัยคุกคามต่าง ๆ


ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้พบเจอกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ชีวิตผ่านโลกเสมือนจริงเช่น Metaverse คล้ายกับในภาพยนตร์ Ready Player One, การประมวลผลข้อมูลที่มีความเป็น Digital Privacy มากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคนิค Zero Knowledge หรือ Differential Privacy หรือ Homomorphic Encryption, เทคโนโลยี Web3.0 ที่มีความสามารถมากขึ้นโดยเฉพาะด้านกราฟิกส์ กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. PDPA, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act : CSA) และ Payment Transaction Tracking เป็นต้น รวมทั้งการมาถึงของการประมวลผล Quantum ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดร.ชัยพร กล่าว


ดร.ชัยพร กล่าวด้วยว่า
จากที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นกระแสเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิด Digital Disruption อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หลายคนมีการปรับตัวโดยทำ Digital Transformation บ้างแล้ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หลายคนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้อย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่อาจตกขบวนไม่สามารถก้าวตามกระแสเหล่านี้ได้ทัน ดังนั้นการเตรียมตัวเองให้พร้อมและปรับตัวอยู่เสมอสอดคล้องกับการทำ Digital transformation มีการเตรียมความพร้อมขององค์กร การเพิ่มพูนความรู้บุคลากรทั้ง Re-skill และ Up-skill การปรับใช้เครื่องมือทางระบบสารสนเทศและแอพพลิเคชั่นให้เหมาะสมและทันสมัย รวมทั้งการปรับกฎเกณฑ์หรือระเบียบการทำงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และควรดำเนินการแต่เนิ่น ๆ และมีความสม่ำเสมอ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างผลผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและต้นทุนที่ลดลง เพราะหากดำเนินการล่าช้าในโลกยุคโลกาภิวัตน์อาจทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่เกิดขึ้นได้ 


สำหรับ CITE ที่ DPU นั้นได้มีการปรับหลักสูตรทั้งหลักสูตรระยะสั้นและปกติ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เช่น มีการแทรกเนื้อด้านการสร้างบล็อกเชน มาตรฐานและกลไกต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. PDPA และ CSA มีวิชาที่มีการสร้าง Web application ตามมาตรฐาน Web3.0 มีการให้บริการวิจัยแก่ภาครัฐที่เกี่ยวกับ Metaverse เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนและใช้บริการได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น