Breaking News

DITP คิกออฟ “Idea Lab 4” ติวเข้ม SMEs ไทย พร้อมเข้าสู่ตลาดการค้าสากลหลังโควิด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคิกออฟกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยรุ่น 4 (Idea Lab 4) ตอบรับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” หลังประสบความสำเร็จมาแล้วถึง 3 รุ่น ปีนี้เน้นการอบรมแบบออนไลน์ขยายการเข้าถึงจากทั่วประเทศ เฟ้นหา 15 แบรนด์หัวกะทิเวิร์คช้อปเข้มข้นพัฒนาแบรนด์ให้เหมาะกับฐานชีวิตใหม่ พร้อมผลักดันการสร้างแบรนด์ต้นแบบประจำท้องถิ่นสู่การยอมรับในตลาดสากลในยุคหลังโควิด ขยายมูลค่าการค้าได้อย่างยั่งยืน


ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์
กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก สินค้าหลายแบรนด์ต่างต้องหันกลับมาพิจารณาในแง่ของ Brand Relevance หรือความสัมพันธ์ของแบรนด์ต่อผู้บริโภค ว่ามอบคุณค่าและสอดคล้องกับความต้องการภายใต้ฐานชีวิตโลกใหม่ (New Normal) มากน้อยเพียงไร เป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการปรับตัวและพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ทำความเข้าใจในลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ช่องทางการจำหน่าย การค้า การสื่อสาร การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมให้ความรู้ผู้เข้าร่วมโครงการ (จากซ้าย) ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ไทย, ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร , ทรงพล เนรกัณฐี นักรังสรรค์แบรนด์และนักการตลาดเชิงกลยุทธ์ และ ณทัต ณ สงขลา ผู้ก่อตั้ง The Double Rabbits Creation Agency

“นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เน้นพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิต และภาคบริการ ทั้ง SMEs และ Micro SMEs ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเองด้วยการออกแบบสร้างสรรค์ การใช้นวัตกรรม รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่นำความต้องการยุควิถีใหม่มาเป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจ อาทิ เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ เป็นต้น

กิจกรรมเสวนา “การสร้างแบรนด์ในบริบทโลกยุคใหม่ : แบรนด์ SMEs ไทยกับการเปลี่ยนแปลง”

กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 4 (IDEA LAB 4: Thai Brand Incubation Program)
ที่จัดโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้านั้น เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “From The New Normal to A New Future” เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการไทยในทุกภูมิภาค ในด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและให้สามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งไปยังผู้ประกอบการใน 3 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในทางการตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม และกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถกรรม เป็นการดำเนินการจัดในลักษณะบูรณาการร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และมีเป้าหมายเพื่อสร้างแบรนด์ภูมิภาคให้เป็นแบรนด์ต้นแบบประจำท้องถิ่น (Local Brand Hero) เน้นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง มีการนำเอาวัตถุดิบหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือมีฐานการผลิตในภูมิภาค มีการสร้างงาน/สร้างความเข้มแข็งในชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจสู่ระดับสากล”


โดยผู้ประกอบการทั้ง 127 แบรนด์จะได้ร่วมอบรมในรูปแบบออนไลน์ 5 ครั้ง จากนั้นจะเป็นการนำเสนอ กลยุทธ์ต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 15 แบรนด์สำหรับรอบสุดท้ายเพื่อเข้าร่วม Workshop เชิงลึกจำนวน 4 ครั้ง กับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ ได้แก่ สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง Prompt Design, ณฑัต ณ สงขลา นักวางแผนกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์และนักการตลาด และทรงพล เนรกัณฐี นักวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างแบรนด์และนักการตลาด เป็นต้น ซึ่งทั้ง 15 แบรนด์จะได้ร่วมกันสร้างเครือข่าย กระชับความสัมพันธ์ในรุ่น และสร้างแรงบันดาลใจ โดยเน้นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในสถานการณ์การค้าปัจจุบันฐานวิถีชีวิตใหม่ อาทิ การสร้างแบรนด์ การค้าออนไลน์ การสร้างเนื้อหาสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างเรื่องราวให้แบรนด์ หรือ Story Telling รวมถึงการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เป็นต้น

การบรรยาย หัวข้อ “เทคนิคการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์และออฟไลน์” โดย อรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-Founder & CEO Techsauce Media

“จากกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยรุ่นที่ 1 – 3 นั้น มีผู้เข้ารับการอบรมเสริมองค์ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์ทั้งสิ้น 334 ราย และเข้าร่วมการบ่มเพาะเชิงลึก จัดทำกลยุทธ์/คู่มือการสร้างแบรนด์เป็นรายบริษัท 56 แบรนด์ อาทิ สินค้าเครืองสำอางแบรนด์ VITISTRA (วีทิสตร้า) สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์ Koob-Tei (กุ๊บไต) และสินค้าเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Moonler (มูนเลอร์) เป็นต้น ต่างประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในด้านการสร้างแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยแต่ละรายได้แนวทางกลยุทธ์แบรนด์ ค้นพบอัตลักษณ์ จุดแข็ง ความท้าทายของตนเอง สามารถเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในเวทีสากลด้วยการปรับผลิตภัณฑ์ แนวทางธุรกิจ การสื่อสารแบรนด์ การวางแผนขยายแบรนด์ในอนาคต ทั้งยังได้สร้างประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากมีการนำเอาวัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้า มีฐานการผลิตในภูมิภาคหรือมีการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน จึงก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วย” ม.ล.คฑาทอง กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น