Breaking News

กองทัพอากาศ รับมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ จาก วช. เพื่อนำใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ


วันที่ 3 กันยายน 2564 กองทัพอากาศ รับมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำมามอบให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รับมอบนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมี พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ให้การต้อนรับ ณ ห้องรับรองพิเศษ 1 กองบัญชาการกองทัพอากาศ กรุงเทพมหานคร


                             พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ                                                                         พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ

พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
กล่าวว่า นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ในปัจจุบัน กองทัพอากาศ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพอากาศ มีภารกิจในการเตรียมการป้องกัน และบรรเทาความเดือนร้อนจากสาธารณภัย ซึ่งใช้ทรัพยากรของกองทัพอากาศที่มีอยู่ และของที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในวันนี้ วช. ได้นำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มามอบให้กองทัพอากาศเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ต่อไป


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ มีเป้าหมายในการนำผลสำเร็จจากงานและนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเร่งด่วน และเป็นเรื่องวิกฤตของประเทศ และ วช. ยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา หรือ ศปก. วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังหลักของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ในการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ผ่านมา วช. มีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามสถานการณ์ของโรคที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดจนถึงปัจจุบัน วช. ได้สนับสนุนการวิจัยที่สามารถได้ชุดข้อมูลลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ชุดตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ การพัฒนายาและวัคซีน อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนทางการแพทย์ อาทิ หน้ากาก N95 ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (หรือ PAPR) การวิจัยเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ของประเทศในวันนี้ วช. ได้ประสานกับกองทัพอากาศโดยโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อนำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่มาใช้ประโยชน์ในภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพอากาศเพื่อดูแลผู้ป่วย


นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่
เป็นนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในด้านสาธารณสุข แก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการพัฒนานวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ นวัตกรรมดังกล่าวนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ซึ่งห้องทำจากวัสดุแข็งแรงทนทาน มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ ระบบดูดอากาศและเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคที่มี
ประสิทธิภาพสูงเพื่อกรองเชื้อไวรัส ที่ใช้หลักในการออกแบบตามมาตรฐานของศูนย์ควบคุมและป้องกันเชื้อโรคของ Center of Disease Control and Prevention หรือ CDC สหรัฐอเมริกา และหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ในอนาคต


การส่งมอบห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพอากาศ
ในครั้งนี้ วช. ยังได้นำนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมามอบให้เพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วย ได้แก่ ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) พัฒนาโดยทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย จำนวน 10 ชุด, หน้ากาก N-Breez พัฒนาโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน 10,000 ชิ้น, และหน้ากากอนามัยชนิด KN95 พัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จำนวน 1,000 ชุด มามอบให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำไปใช้รับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 วช. หวังว่าการมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพอากาศในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น