กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้าโครงการยกระดับผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก เพิ่มยอดขาย พัฒนาคุณภาพชีวิต
กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้าโครงการยกระดับผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 475 รายจากทั่วประเทศ เข้าสู่กระบวนการพัฒนา 2 แนวทาง คือกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เบื้องต้น และกลุ่มที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์โดดเด่น มีโอกาสเข้า สู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ดึงทีมที่ปรึกษาด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เป็นพี่เลี้ยง ติวเข้ม พร้อมเสริมทักษะรอบด้านด้วยหลักสูตรออนไลน์ หวังเพิ่มยอดขาย ยกระดับคุณภาพชีวิต
นางสาวอาภรณ์ เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน กิจกรรมที่ 1 พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์โอทอปในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนประมาณ 75% หรือจำนวนประมาณ 140,000 ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน จากทั้งสิ้น 180,000 ผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการแบ่งตามศักยภาพของผลิตภัณฑ์
สำหรับกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนาหรือ Quadrant D หรือกลุ่มที่ยังประสบปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพการผลิตและปริมาณการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ ผลิตภัณฑ์ไม่โดดเด่นและไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ รวมทั้งมีปัญหาการพัฒนาสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลต่อข้อจำกัดด้านการจำหน่ายสินค้าได้ในปริมาณน้อย ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชนจัดทำโครงการฯ ดังกล่าวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการทั้ง 475 ราย ที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีกลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างแบรนด์เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศได้
นางสาวอาภรณ์ กล่าวต่อว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินการโดยในเบื้องต้นได้ทำการคัดเลือกผลิตภัณฑ์โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เบื้องต้นโดยมีสัดส่วน 90% หรือ 427 ผลิตภัณฑ์/ราย และกลุ่มที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์โดดเด่น มีโอกาสเข้าสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลายสัดส่วน 10% หรือ 48 ผลิตภัณฑ์/ราย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและทีมที่ปรึกษาด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะดำเนินการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา 3 แบบโดยเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์เลือก 1 แบบ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้จริง ตลอดจนการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือ ตราสินค้า (Logo สินค้า) หรือป้ายห้อย (Tag) หรือสติ๊กเกอร์
การเสริมศักยภาพด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการเพิ่มจุดเด่น สร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้สำหรับกลุ่มที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์โดดเด่น มีโอกาสเข้าสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลาย เมื่อเกิดการพัฒนาตามกระบวนการดำเนินงานของโครงการเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่การทดสอบตลาดจริงในรูปแบบตลาดออนไลน์ 4 ช่องทาง คือ Facebook Fanpage ดูดีสไตล์, Shopee, Line : Myshop และ Instagram จำนวน 15 วัน และนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาทั้ง 48 ผลิตภัณฑ์/ราย ออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายในงาน “มีดีมาร์เก็ต” ซึ่งจะจัดขึ้นในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าปิ่นเกล้า จำนวน 3 วัน ช่วงประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ก่อนปิดโครงการฯ
“ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายทั้ง 475 รายที่เข้าร่วมโครงการ ทางทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการทุกราย และผู้ผลิต ผู้ประกอบการยังได้รับองค์ความรู้ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างแบรนด์เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในรูปแบบสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ (E -Learning) บนระบบออนไลน์ของ Line Official Account : Tamdeemark (ทำดีมาก) สื่อสารด้วยภาษาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย จำนวน 14 หลักสูตร ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ ด้านการตลาด ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ จำนวน 7 หลักสูตร ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 หลักสูตร ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการขาย จำนวน 4 หลักสูตร” นางสาวอาภรณ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น