Breaking News

กรมชลประทานเดินหน้าเข้ม 2 เดือนสุดท้ายฤดูฝน เน้นลดผลกระทบประชาชน แต่ยังต้องมีน้ำใช้เพียงพอ

กรมชลประทานเดินหน้าเข้ม 2 เดือนสุดท้ายภายใต้แผนจัดการน้ำฤดูฝน 2564 มุ่งเน้นลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน แต่ยังต้องมีน้ำใช้เพียงพอและกักเก็บไว้สำหรับฤดูแล้ง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเครื่องมือรับฝนที่กำลังตกชุกในเดือนกันยายน


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
กล่าวว่า ภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน 2564 ที่กรมชลประทานดำเนินการอยู่เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอนั้นได้ดำเนินการในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยกรมชลประทานเอง หรือการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ในการดำเนินงานของกรมชลประทานด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้เพียงพอ ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ ในระดับพื้นที่

“ปริมาณฝนที่เกิดขึ้นทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมภายใต้การดูแลของกรมชลประทานทั้ง 447 แห่ง ขณะนี้มีจำนวน 38,931 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การเพียง 15,001 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทางกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในเขื่อนเพื่อให้ประชาชนภาคการเกษตรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคเหนือในบางโซน ตลอดจนพื้นที่ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา ที่ยังมีความต้องการน้ำอยู่แม้จะมี 4 เขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพราะบางพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อใช้ในการเกษตรและชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ปริมาณน้ำ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อเทียบเมื่อปีที่แล้วมีน้ำน้อยกว่าปีนี้ถึง 1,273 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังทำให้เกษตกรที่ปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยามากกว่าปี 2563 มากวว่าเดิมประมาณ 25%

ขณะเดียวกันปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 16.83 ล้านไร่ ดำเนินการไป 14.28 ล้านไร่ มีการเก็บเกี่ยวอยู่ 1.91 ล้านไร่ ที่ผ่านมากรมชลประทานให้หาวิธีเพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง โดยได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด ที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริม และบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว ได้ขอความร่วมมือให้งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 อย่างเคร่งครัด”


ด้านการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำและการใช้น้ำระหว่างทาง พร้อมทั้งได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการพิจารณาการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งทางสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา (สบอ.) ได้ปรับการระบายเข้าคลองตามความต้องการใช้น้ำ และปรับระบายเขื่อนเจ้าพระยาให้เหมาะสมกับท้ายน้ำ

“ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของฤดูฝน กรมชลประทานคาดว่าประชาชนจะมีน้ำสำหรับใช้อย่างเพียงพอ และสามารถเก็บกักน้ำสำรองเพื่อใช้ในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ขณะเดียวกันยังได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการของรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบไม่ให้ไปซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

จากการติดตามสภาพภูมิอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) พบว่า ในเดือนกันยายน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไปเฉลี่ย 60-80% ของพื้นที่ กรมชลประทานได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรให้เตรียมพร้อม บทบาทของกรมชลประทานนั้นมากกว่าการบริหารจัดการน้ำ แต่เป็นการบริหารความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด มีน้ำกิน น้ำใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม โดยกรมชลประทานทำงานภายใต้แนวคิด RID TEAM เราจะก้าวไปด้วยกันและยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)” นายประพิศ กล่าวทิ้งท้าย


ไม่มีความคิดเห็น