Breaking News

แพทย์แนะนำผู้ป่วยโรคหัวใจ ดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อเสริมความมั่นใจป้องกันภัยโควิด-19

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ สุรพันธ์ สิทธิสุข

แม้วันนี้โลกจะได้รู้จักและเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019” หรือ “โควิด-19” มากว่า 4 เดือนแล็วก็ตาม นับแต่มีการยืนยันการพบผู้ติดเชื้อรายแรกอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ก็ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตได้อย่างปกติดั่งที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ จึงนำมาซึ่งมาตรการต่าง ๆ ในด้านสุขอนามัยและการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ หรือที่ตอนนี้เรารู้จักกันว่า “ความปกติแบบใหม่” (New Normal) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่ว่าจะเป็นความดัน (Hypertension) เบาหวาน (Diabetes) ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Disease) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular Disease) ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าบุคคลทั่วไปหากได้รับเชื้อไวรัสนี้

โครงการ Every Beat Matters “เพราะทุกจังหวะมีความหมาย” ได้ร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจัดทำวิดีโอ เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจล้มเหลว ที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลตนเองและป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงในการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ สุรพันธ์ สิทธิสุข อดีตหัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวิดีโอว่า “เชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงชนิดที่สอง (SARS-CoV-2) เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 30-39 ปีและ 50-59 ปี โดยอาการเริ่มแรกมักมีไข้สูงถึง 37.5 องศาขึ้นไป พร้อมกับมีอาการร่วมคือ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องเสีย และหายใจหอบเหนื่อย ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดโรคปอดอักเสบ โดยหากผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำหรือรายที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง สามารถเพิ่มความเสี่ยงถึงขั้นวิกฤตและเสียชีวิตได้ถึง 3-7 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ จึงแนะนำให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเองให้ดี หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ดวงตา และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ใช่ภาชนะและของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ที่สำคัญควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และมีเจลแอลกอฮอล์พกติดตัวไว้เพื่อทำความสะอาดมือด้วย

และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มีความกังวลต่อการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ในวิดีโอยังมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคแทรกซ้อน ดังนี้

1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการหมั่นตรวจดูตารางการรับวัคซีนให้ครบถ้วนตามกำหนด
2. คอยสังเกตอาการร่างกาย อาทิ การหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่
3. ปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า โดยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ เลี่ยงการสัมผัสใบหน้า รวมไปถึงเลี่ยงการสัมผัสวัตถุสิ่งของที่เป็นจุดสัมผัสร่วม เช่น ปุ่มกดลิฟท์ มือจับ / ราวจับต่าง ๆ
4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ภาชนะและช้อนส้อมของตนเองไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก คือ ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน

แม้โรคโควิด-19 จะสร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัวให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก แต่เราทุกคนก็ยังคงต้องใช้ชีวิตต่อไปควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันตนเองจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และที่สำคัญการเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเป็นวิธีการร่วมด้วยช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ด้วยระยะห่างที่ปลอดภัยอย่างน้อยประมาณ 1-2 เมตร สุดท้ายนี้ผมในนามของตัวแทนจากกลุ่มทางการแพทย์หวังว่าคลิปวิดีโอชุดนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยเป็นดั่งเกราะป้องกันภัยให้เราห่างไกลจากโรคนี้ครับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ สุรพันธ์ สิทธิสุข กล่าวเสริม

ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Every Beat Matters “เพราะทุกจังหวะมีความหมาย” ได้ โดยสามารถเข้าไปรับชมวิดีโอและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ที่ Facebook Every Beat Matters รวมทั้งข้อมูลความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว


ไม่มีความคิดเห็น