Breaking News

ศุภชัย มั่นใจพร้อมรับมอบแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในช่วงโควิด เร่งส่งผู้เชี่ยวชาญประเมิน สั่งปรับปรุงทันที ก่อนการส่งมอบ 25 ต.ค. นี้


กรุงเทพมหานคร—25 พฤษภาคม 2564
, บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เดินหน้าเตรียมความพร้อมในการรับโอนสิทธิ์การเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อัดฉีดงบลงทุนกว่า 1.7 พันล้านบาทเพิ่มเติมจากข้อตกลงตามสัญญา เตรียมพร้อมให้บริการก่อนรับมอบสิทธิ์การเดินรถ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จาก ร.ฟ.ท. ส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบระบบการเดินรถ ซ่อมบำรุง และปรับปรุงตกแต่งสถานี ล่วงหน้าก่อนเริ่มการดำเนินงานเต็มรูปแบบหลังรับมอบในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 นี้ หวังยกระดับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมทุกเส้นทางการเดินทางระหว่างชานเมือง เข้าสู่ในตัวเมือง รองรับการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ที่จะเปิดดำเนินการในปี 2569 ได้อย่างไร้รอยต่อ หวังผู้โดยสารได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้น สะดวก และปลอดภัย



นาย​ศุภชัย​ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
และ ประธานกรรมการ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวถึงภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และความพร้อมในการรับมอบรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ว่า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินการรับช่วงต่อจาก ร.ฟ.ท. ได้แบบไร้รอยต่อตามสัญญา ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน และกำหนดเวลาที่วางไว้ โดยสั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบราง ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมสำรวจความคิดเห็นจากผู้โดยสาร เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้พร้อมบริการได้อย่างต่อเนื่องทันทีที่เข้ามารับช่วง โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบาย

“โครงการนี้ถือเป็นความหวังของประเทศในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ บริษัทฯ จึงทุ่มเทสรรพกำลังในการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับประสบการณ์การเดินทางที่ดียิ่งขึ้นทันทีที่เราเข้าไปดำเนินงาน ซึ่งต้องทำให้ดีตั้งแต่ก้าวแรก ต้องพร้อมทั้งในแง่ของระบบการเดินรถ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย เพราะรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อสู่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกในอนาคตอีกด้วย”


ด้านนายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าตามสัญญาบริษัทฯ จะได้รับมอบสิทธิ์ในการบริหารจัดการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตั้งแต่ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป แต่หลังจากที่บริษัทฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลกลงพื้นที่ ประกอบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้พบว่ามีความจำเป็นที่บริษัทฯจะต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อปรับปรุงระบบ และสถานี ซึ่งจะทำให้บริษัทฯสามารถให้บริการประชาชนได้ทันที

“บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการรับมอบเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมีความเห็นให้ดำเนินการปรับปรุงระบบและสถานีให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน บริษัทฯ จึงมีมติให้ อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 1.7 พันล้านบาท สำหรับดำเนินงานล่วงหน้าก่อนรับโอนสิทธิ์ โดยเริ่มวางแผนงานตั้งแต่ต้นปี 2563 และทยอยดำเนินการในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ได้แก่ 1.การเตรียมการด้านบุคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.การเตรียมความพร้อมด้านระบบ และเทคนิค 3.การเตรียมความพร้อมด้านการปรับปรุงสถานี และการให้บริการ จัดให้มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง ด้วยการออกแบบอารยสถาปัตย์ (universal design) ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อทุกคน และ 4. การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย เพราะต้องการให้ความเชื่อมั่นกับผู้โดยสารว่า ทันทีที่บริษัทฯ เข้ามาดำเนินงาน ผู้โดยสารจะได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ดียิ่งขึ้นตั้งแต่วันแรก และมีความต่อเนื่อง”

นอกจากการปรับปรุงการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก่อนการรับมอบสิทธิ์ตามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแล้ว บริษัทฯ ยังมีแผนการพัฒนาและปรับปรุงในด้านอื่น ๆ อีกที่จะต้องดำเนินการหลังรับมอบสิทธิ์ อาทิ การปรับปรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง (HSR) การปรับปรุงเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (Safety and Security) การปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพบริการ (Level of Service and Customer Satisfaction) และการปรับปรุงเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่นการใช้งานเทคโนโลยี เป็นต้น

สามารถรับชมวีดีโอภาพรวมและความคืบหน้าโครงการได้ที่ https://youtu.be/QmzmrmeWEY4

เกี่ยวกับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด
บริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เป็นบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) รายแรก ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย ให้พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยมีระยะเวลาสัญญา 50 ปี มีมูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท 
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี


ไม่มีความคิดเห็น