วช. ร่วมกับ RUN โดย มช. และหน่วยงานในพื้นที่ “ปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จัดงาน “ปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน” “Northern Haze Free Day in Action” ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ 3
วันพุธที่ 9 ธันวาคม 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จัดงาน “ปฏิบัติการวันฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน” “Northern Haze Free Day in Action” ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้หมอกควัน ระยะที่ 3 ณ NSP Exhibition Hall อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ผู้แทนหน่วยงาน และทีมนักวิจัยร่วมงานดังกล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ วช. รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า “ปัญหาหมอกควัน” เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนัก วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมที่เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ดำเนิน “แผนงานวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้หมอกควัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะหมอกควันภายในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการลดปัญหาฝุ่นควัน สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการป้องกัน การตรวจสอบคุณภาพการแพร่กระจายของหมอกควัน รวมทั้งการติดตามคุณภาพอากาศของประเทศไทย เป็นต้น และงานในวันนี้เป็นการเผยแพร่และขยายผลต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้ง 9 จังหวัด รวมทั้งการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันดังกล่าว อันนำไปสู่การสร้างแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมต่อไป ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยฟ้าใสไร้ฝุ่นควัน
ไม่มีความคิดเห็น