มส.ผส. ร่วมกับ วช. เปิดคลังความรู้สู่สาธารณะ นำเสนอผลการวิจัยและองค์ความรู้จากการดำเนินงาน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์
เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดงานนำเสนอผลการวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม โดยการสนับสนุนการสร้างและจัดการองค์ความรู้ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ตลอดการดำเนินที่ผ่านมาสู่สาธารณะ ภายใต้แนวคิด “องค์ความรู้เพื่อการพัฒนา สูงอายุอย่างมีคุณค่าในบริบทไทย” เตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์
พร้อมเสวนา “คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย : จากการเรียนรู้ร่วมกันสู่นโยบายและภาคปฏิบัติ”เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ทั้งงานวิชาการ งานนโยบาย และการสร้างองค์ความรู้เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานในระดับพื้นที่ รวมถึงการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” จาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประเทศไทยต้องเดินแบบไหน ถึงจะใช้ชีวิตสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ” จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมภาคปฏิบัติซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมพฤฒพลังสำหรับผู้สูงอายุ ที่มาร่วมงานในวันนี้ด้วย โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักวิจัย องค์กรเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ รวมถึงประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี กล่าวว่าปัจจุบันสังคมในประเทศไทย เป็นสังคมเมืองที่มีความเลื่อมล้ำ ซึ่งความเหลื่อมล้ำจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ กระทบเป็นลูกโซ่ โดยเกิดจากการคิดแบบแยกส่วน ซึ่งนำไปสู่การเสียสมดุล เกิดความเครียด ความทุกข์จากเรื่องต่างๆ โดยปัจจุบันเป็นสังคม 99 : 1 ซึ่งผู้สูงอายุในปัจจุบันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ และถูกทอดทิ้ง เนื่องจากลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ และเมื่อดูค่าสัมประสิทธิคุณภาพชีวิต (คุณภาพชีวิต/ต้นทุนทั้งหมด) จะพบว่ามีค่าสัมประสิทธิคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงมาก โดยในหน่วยสังคม (Social Unit) ที่มีสัมประสิทธิคุณภาพชีวิตที่สูง จะมีอัตลักษณ์และดุลยภาพของหน่วยทางสังคม คือมีระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และมีการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง 8 มิติ (เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย) จึงจะสามารถพัฒนาชีวิตของคนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มส.ผส. มุ่งมั่นขับเคลื่อนการศึกษาวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุสำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยมาโดยตลอด อาทิ การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมให้กับผู้สูงอายุ โดยจัดทำองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมส่งเสริมการการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดทำต้นแบบชุดหลักสูตรความรู้ที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ การสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อจัดทำแนวทางและรูปแบบการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และการจัดงานในครั้งนี้ ได้นำเสนอผลการศึกษาสำคัญที่ได้จากการศึกษาวิจัยบางส่วน และองค์ความรู้อื่นๆ ตลอดการทำงานที่ผ่านมาของ มส.ผส. ยังก่อให้เกิดเครือข่ายระหว่าง ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และหากมีการสานสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายและต่อยอดไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น จะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรมมีความเชื่อมโยงทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งแต่ละประเด็นต่างให้ความสำคัญกับเสริมพลังทางสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยในปี 2563 มีกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ ววน. ในประเด็นเรื่องรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ และในปี 2566 – 2570 มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ ววน. โดยมีการเชื่อมโยงกับแผนงานที่ได้มีการดำเนินการมาก่อน เช่น แผนพัฒนาผู้สูงอายุไทยให้สามารถดูแลและพึ่งพาตัวเองได้ โดยประเด็นกรอบแผนงานที่มีการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ได้แก่โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (ป.ย.ป.) ที่มีการกำหนด Policy platform เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน รองรับการดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงวัย โดยมีการนำนโยบายของ ป.ย.ป. ลงพื้นที่ในหวัดพิษณุโลก ที่ ต.หนองกระท้าว โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทั้ง 5 มิติ (รายได้ ความเป็นอยู่ การศึกษา สุขภาพ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ)
ทั้งนี้ วช. ในฐานะหน่วยบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยในแผนด้านการรองรับสังคมสูงวัย ได้มีการดำเนินงานตามเป้าหมายที่วางไว้ครอบคลุมในหลายส่วน ทั้งในด้านเชิงระบบ และนวัตกรรมเพื่อรองรับการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย โดยในผลลัพธ์ ผลกระทบ จะมีหมุดหมายในการวัดผล และมี Ecosystem อำนวยความสะดวก รองรับการดำเนินงานในแผนงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเป้าหมายมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ครอบคลุม ทั่วถึง และเข้าถึงได้ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิต (Universal Design) ได้รับการส่งเสริมและสนับสุนนให้มีส่วนร่วมทางสังคม เป็นอีกหนึ่งแรงพลังในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการเสวนา เรื่อง “คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย : จากการเรียนรู้ร่วมกันสู่นโยบายและภาคปฏิบัติ” ผู้ร่วมเสวนา 5 ท่าน ประกอบด้วย รศ.พญ. วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นางสาวภัทรพร เล้าวงค์ นายประพันธ์ ชัยอินตา ครูรัตน์ วิรัตน์ สมัครพงศ์ และการเสวนา เรื่อง “สังคมสูงวัย ก้าวไกลด้วยพลังความรู้” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา 6 ท่าน ประกอบด้วย ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คุณอภิญญา ตันทวีวงศ์ คุณวิชชุตา อิสรานุวรรธน์ คุณกัญญาภัค เงาศรี นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมพฤฒพลัง (Active and healthy aging) สำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ กิจกรรมโยคะกายขยับ กระฉับกระเฉง กิจกรรมกินอย่างไร ให้สมวัย สว. กิจกรรมสูงวัย (แต่ง) อย่างไรให้สง่า และกิจกรรมหนุนนำใจ บรรยายธรรม : สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ
ไม่มีความคิดเห็น