Breaking News

“SACICT” โชว์ 50 ผลงานสุดครีเอท “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” ชิง 5 สุดยอดผลงานชนะเลิศ


ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT โชว์ 50 ผลงานแฟชั่นสุดสร้างสรรค์ ยกทัพนางแบบนายแบบ เปิดรันเวย์ชิงสุดยอดผลงานชนะเลิศ โครงการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ (SACICT AWARD 2020) “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” พร้อมเดินหน้าสู่การยกระดับเสื้อผ้าแฟชั่นจากผ้าไทยที่มีความร่วมสมัย ตอบโจทย์ตรงใจทุกเจเนอเรชั่นและพัฒนาต่อยอดผลงานสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศ


วันนี้ (22 กันยายน 2563) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล โครงการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ (SACICT AWARD 2020) ภายใต้หัวข้อ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” โดยได้รับเกียรติจาก นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เป็นประธานในพิธี ซึ่งภายในงานได้นำ 50 ผลงานสุดสร้างสรรค์ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่สมบูรณ์แบบมาจัดแสดงบนรันเวย์การประกวดในรอบชิงชนะเลิศ พร้อมแฟชั่นโชว์ผ้าไทยจากแบรนด์ชั้นนำ โดยศิลปินดาราชื่อดัง อาทิ ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์, ตั๊ก-นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์, อ๊ะอาย-กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ และมินิคอนเสิร์ตจาก เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ ณ อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ชั้น 1 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


นายพรพล เอกอรรถพร
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เปิดเผยว่า จากการที่ SACICT ได้จัดโครงการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ (SACICT AWARD 2020) โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบสร้างสรรค์ประเภทแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ในหัวข้อ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” โดยแบ่งการประกวดเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทชุด Finale 2.ประเภทชุด Baby Boomer 3.ประเภทชุด Generation X 4.ประเภทชุด Generation Y และ 5.ประเภทชุด Generation Z ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 293 ผลงาน และคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผลงานจากภาพแบบร่าง (Sketch) ประเภทละ 10 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 50 ผลงาน ก่อนนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการด้วยรูปแบบของแฟชั่นโชว์ในการประกวดรอบชิงชนะเลิศ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับรางวัลเป็นเงินสด จำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ


สำหรับคณะกรรมการตัดสินการประกวด “การประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” ประกอบด้วย นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ในฐานะประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วย นายอดิศักดิ์ จันทร์วิทัน รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT), ดร.หญิงฤดี ภูมิศิริรัตนาวดี ผู้ก่อตั้งยุทธศาสตร์ทุนคนไทย (Thainess Capital), รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ระพี ลีละสิริ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ระพี ลีลา, นายอธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Surface, อาร์ต-อารยา อินทรา สไตลิสต์และดีไซเนอร์ และนายเฉลิมเกียรติ คติเกษมเลิศ เจ้าของแบรนด์ Wonder Anatomie เสื้อผ้าแบรนด์ไทยที่ 4minute เกิร์ลกรุ๊ป จากประเทศเกาหลีใส่ถ่ายปกอัลบั้ม 


นายพรพล
กล่าวว่า ผลงานการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นที่ผ่านเข้ารอบการประกวด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก GEN” ในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 50 ผลงาน สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกผ้าไทยชนิดต่างๆมาใช้เป็นวัตถุดิบในการนำเสนอแนวคิดการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไทยด้วยการผสมผสานองค์ความรู้และภูมิปัญญาของผ้าไทยซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้เข้ากับทักษะการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกายได้อย่างสอดรับกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน โดยแต่ละผลงานเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ มีความโดดเด่น ประณีต สวยงาม มีความสอดคล้อง กลมกลืน มีความร่วมสมัยในมุมมองที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง และมีความเป็นไปได้ใน การนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์


ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดทั้ง 5 ประเภท พร้อมทั้งขอชื่นชมทั้ง 50 ผลงานที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างสวยงามและมีเอกลักษณ์ รวมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ร่วมคัดเลือกและตัดสินผลงานในครั้งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด การประกวดในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกในการเชื่อมโยงนักออกแบบรุ่นใหม่กับผ้าไทยที่จะช่วยกระตุ้นและจุดประกายคนรุ่นใหม่ให้หยิบผ้าไทยมาผสมผสานไอเดียเป็นเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ และหันมาสวมใส่ผ้าไทยกันมากขึ้น และจะเป็นก้าวต่อไปที่แข็งแรงในการยกระดับเสื้อผ้าแฟชั่นจากผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวันสำหรับคนทุกเจเนอเรชั่น และเมื่อการประกวดดำเนินการเสร็จสิ้น SACICT ได้เตรียมแผนการดำเนินงานที่เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและต่อยอดผลงานจากการประกวดในครั้งนี้สู่อุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในประเทศประเทศและระดับสากล เพื่อให้ผ้าไทยคงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนนายพรพล กล่าวในตอนท้าย





ไม่มีความคิดเห็น