Breaking News

ทัพนักกอล์ฟสมัครเล่นชั้นนำแห่งภูมิภาค เตรียมตบเท้าเข้าชิงชัยศึก “เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ” ณ สนามอมตะสปริง คันทรี คลับ ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคมนี้


5 กันยายน 2565 – ทัพนักกอล์ฟสมัครเล่นระดับแถวหน้าของภูมิภาคเตรียมตบเท้าสู้ศึก “เอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ” หรือ “เอเอซี” ครั้งที่ 13 ณ สนามอมตะ สปริง คันทรี คลับ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2565 และยังเป็นการกลับมาจัดที่สนามแห่งนี้อีกครั้งในรอบ 10 ปี


กอล์ฟ “เอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ” เป็นการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นรายการสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีซีจี) มาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ และ อาร์แอนด์เอ เพื่อเป็นเวทีพัฒนาฝีมือนักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาค โดยแชมป์รายการนี้จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในระดับเมเจอร์ รายการ เดอะ มาสเตอร์ส และ ดิ โอเพน ขณะที่รองแชมป์จะได้สิทธิ์ลงเล่นรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย เพื่อลุ้นสิทธิลงแข่งขันรายการ ดิ โอเพ่น


โดยตลอดการแข่งขัน 13 ปีที่ผ่านมา กอล์ฟรายการนี้กลายเป็นเวทีปั้นดาวสู่วงการกอล์ฟโลก ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันมีนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ผ่านเวทีการแข่งขันเอเอซี ครองแชมป์พีจีเอทัวร์รวมกันจำนวน 23 รายการ ไฮไลต์คือ ฮิเดกิ มัตซึยาม่า จากญี่ปุ่นที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เมเจอร์รายการ เดอะ มาสเตอร์ส เมื่อปี 2021 และคาเมรอน สมิธ จากออสเตรเลีย แชมป์ ดิ โอเพ่น ปี 2022

สำหรับการแข่งขันในปีนี้จะกลับมาจัดที่สนามอมตะ สปริง คันทรี คลับ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคมนี้ หลังจากเคยเป็นสนามแข่งขันเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีนักกอล์ฟสมัครเล่นระดับแถวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมชิงชัยคับคั่ง นำทัพโดย “ทีเค” รัชชานนท์ ฉันทนานุวัฒน์ มือสมัครเล่นอันดับ 12 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของการแข่งขันครั้งนี้ และเจ้าตัวก็ลุ้นสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้ โดยสถิติที่ผ่านมานักกอล์ฟไทยที่ทำผลงานดีที่สุดคือ ธนภัทร พิชัยกุล จบอันดับ 3 ร่วมในการแข่งขันเมื่อปี 2019


ทั้งนี้ ทีเค รัชชานนท์ นักกอล์ฟวัย 15 ปีของไทย กลายเป็นที่จับตามองหลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ระดับอาชีพรายการ ทรัสต์ กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ คัพ ซึ่งเป็นนักกอล์ฟชายอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์ระดับทัวร์หลัก และได้รองแชมป์รายการ อาร์แอนด์เอ จูเนียร์ โอเพ่น เขากล่าวถึงการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ผมรอที่จะได้ลงแข่งรายการ เอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ และผมก็ตั้งเป้าอยากจะเป็นนักกอล์ฟชาวไทยคนแรกที่ชนะรายการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันปีนี้ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้การได้ลงเล่นระดับเมเจอร์รายการเดอะ มาสเตอร์ส ที่สนามออกัสต้า เนชันแนล และรายการ ดิ โอเพ่น จะเป็นฝันที่เป็นจริงสำหรับผม ซึ่งผมมีโอกาสสานฝันให้เป็นจริงได้หากคว้าแชมป์เอเอซี

ด้าน หลิน อวิ้ซิน และติง เหวินยี่ สองนักกอล์ฟจากจีน ก็เป็นผู้เล่นที่น่าจับตามองในการแข่งขันครั้งนี้ โดยในรายของหลิน มีดีกรีแชมป์ 2 สมัยที่นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2017 และที่จีนในปี 2019 ขณะที่ ติง ปัจจุบันรั้งอันดับ 17 มือสมัครเล่นโลก และเพิ่งสร้างผลงานเป็นนักกอล์ฟชายจากจีนคนแรกที่ผงาดคว้าแชมป์ยูเอส จูเนียร์ อเมเจอร์ แชมเปี้นชิพ (ยูเอสจีเอ)

ติง ซึ่งร่วมแข่งขันรายการเอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ครั้งแรกในปี 2019 และจบอันดับ 45 ร่วม มาปีนี้หวังทำผลงานได้ดีขึ้นหลังไปคว้าแชมป์ยูเอสจีเอ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองอย่างมาก เจ้าตัวกล่าวว่า “ผมลงแข่งรายการเอเอซี ที่เสฉวนในปี 2019 และรู้สึกเสียดายหลายอย่างเพราะเป็นการลงเล่นรายการนี้เป็นครั้งแรก เวทีนี้เป็นรายการใหญ่ ผมตื่นเต้นมากเกินและคุมตัวเองไม่ได้ แต่การคว้าแชมป์ยูเอสจูเนียร์ ช่วยเพิ่มความมั่นกับผมอย่างมาก ผมไม่ได้ลงแข่งกับมือสมัครเล่นระดับท็อปมานานเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 จึงไม่รู้ว่าเกมของตัวเองอยู่ระดับไหน ดังนั้นการได้แชมป์ที่สหรัฐฯ ทำให้ทราบว่าเกมการเล่นของผมก็ใช้ได้อยู่ และมั่นใจว่าจะทำได้ดีในการแข่งขันรายการเอเอซี ที่ประเทศไทยในเดือนหน้า เป้าหมายของผมในปีนี้คือทำอันดับให้ดีที่สุดหากก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ก็ยิ่งดี หวังว่าผมจะเดินตามรอย หลิน อวี้ซิน สำเร็จ” ติง กล่าว


ขณะที่มาซาโตะ ซูมิยูชิ จากญี่ปุ่น ลุ้นสานฝันเดินตามรอยรุ่นพี่ร่วมชาติคว้าแชมป์เอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ มาครองให้ได้ ต่อจาก ฮิเดกิ มัตซึยามา เจ้าของแชมป์สองสมัยติดต่อกันในปี 2010 และ 2011 รวมถึง ทาคุมิ คานายา ปี 2018 และ เคตะ นากาจิมา ปี 2021

นอกจากนี้ยังมี 3 นักกอล์ฟสมัครเล่นจากออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในท็อป 50 ของโลก ประกอบด้วย คอนเนอร์ แม็คคินนีย์ มืออันดับ 27, เฮย์เด้น โฮปเวลล์ อันดับ 33 และแฮร์ริสัน โครว์ อันดับ 49

ส่วนนักกอล์ฟอีกรายที่น่าจับมองในการแข่งขันปีนี้คือ ไทอิจิ โค จากฮ่องกง ที่พ่ายต่อ นากาจิม่า ในการดวลเพลย์ออฟ มีลุ้นแชมป์รายการนี้เมื่อปีที่แล้ว

ไทอิจิ โค กล่าวว่า “สิ่งที่ผมทำได้ในการแข่งขันที่ดูไบเมื่อปีที่แล้วคือไฮไลต์ที่สำคัญในเส้นทางอาชีพนักกอล์ฟของผม แม้เป็นความพ่ายแพ้ที่ยากจะทำใจ แต่ก็พอใจกับฟอร์มการเล่นของตัวเอง และแน่นอนว่าในปีนี้ผมหวังว่าจะทำได้ดีกว่าปีก่อน จะเป็นเกียรติอย่างมากหากผมจะเป็นนักกอล์ฟจากฮ่องกงคนแรกที่คว้าแชมป์รายการเอเอซี ผมหวังว่าจะสามารถสานต่อจากสัปดาห์ที่ยากจะลืมเลือนที่ดูไบ และมาคว้าตั๋วร่วมแข่งขันเมเจอร์รายการ เดอะ มาสเตอร์ส และดิ โอเพ่น ได้ที่ประเทศไทย”


สำหรับสนามอมตะ สปริง คันทรี คลับ ออกแบบโดย ลี ชมิดต์ เปิดให้บริการเมื่อปี 2005 เคยเป็นสนามการแข่งขันกอล์ฟ เอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2012 และเคยเป็นสังเวียนชิงชัยกอล์ฟรายการใหญ่อย่าง ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ รวมถึงรายการ ไทยแลนด์ กอล์ฟ แชมเปียนชิพ และการแข่งขันประเภททีมรายการ รอยัล โทรฟี่

โดยในการแข่งขันกอล์ฟ เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ที่สนามอมตะสปริง คันทรีคลับ เมื่อปี 2012 กวน เทียนหลาง จากจีนคว้าแชมป์ไปครอง และกลายเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์รายการนี้ด้วยวัย 14 ปี ได้สิทธิ์ไปแข่งรายการเดอะ มาสเตอร์ส และทำสถิติเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ผ่านการตัดตัวในเดอะมาสเตอร์ส ปี 2013 ส่วน ซี.ที.ปัน หรือเฉิง ซุง ปัน จากไต้หวัน รั้งรองแชมป์ ขณะที่ ฮิเดกิ มัตซึยามา จากญี่ปุ่น ที่จบอันดับ 4 และคาเมรอน สมิธ จากออสเตรเลียที่ได้อันดับ 7 ก้าวขึ้นไปสร้างชื่อในเวทีระดับโลกจากการคว้าแชมป์พีจีเอทัวร์และแชมป์เมเจอร์


ไทร์มู ฮัสซัน อามิน ประธานสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก
กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่ได้ต้อนรับนักกอล์ฟสู่เวทีการแข่งขันรายการ เอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ อีกครั้ง สนามอมตะ สปริง คันทรี คลับ ได้สร้างแชมเปี้ยนที่น่าทึ่ง กวน เทียนหลาง วัย 14 ปี คว้าแชมป์ในปี 2012 และสร้างปรากฎการณ์เป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ผ่านการตัดตัวในรายการ เดอะ มาสเตอร์ส เทียนหลางคือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและสิ่งที่พวกเรา เอพีจีซี ร่วมกับออกัสต้า เนชันแนล กอล์ฟคลับ และอาร์แอนด์เอ มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ นั่นคือการเป็นเวทีพัฒนาศักยภาพแจ้งเกิดนักกอล์ฟฝีมือดีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผมมั่นใจว่าเราจะได้แชมป์ที่ยอดเยี่ยมและคู่ควรหลังการต่อสู้อย่างเข้มข้นสูสีในการแข่งขันตลอดสี่วันในปีนี้ เพื่อเดินตามรอยศิษย์เก่าอย่าง ฮิเดกิ มัตซึยามา และคาเมรอน สมิธ ที่ก้าวไปประกาศศักดาในเวทีระดับโลก


นอกจากนี้ทางทัวร์นาเมนต์ยังโครงการ เอเชียน เอเอซี อะคาเดมี ณ สนามอมตะ สปริง คันทรี คลับ ระหว่างวันที่ 4-10 กันยายนนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้นักกอล์ฟสร้างความคุ้นเคยกับเลย์เอาต์ของสนามอมตะ สปริงฯ ได้ดีขึ้น ภายใต้ธีม “การเตรียมพร้อมก่อนการแข่งขัน” และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้สัมผัสประสบการณ์ในระดับมาตรฐาน และรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสนามแข่งขันรายการเอเอซีมากที่สุด

สามารถติดตามรายละเอียดและความเคลื่อนไหวของการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ได้ทางเว็บไซต์ www.aacgolf.com

ข้อมูลการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ (Asia-Pacific Amateur Championship: AAC)
การแข่งขันกอล์ฟเอเชีย แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2009 จากความร่วมมือของ เดอะ มาสเตอร์ เดอะ อาร์แอนด์เอ และสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีจีซี) เพื่อเป็นเวทีพัฒนานักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในแต่ละปีจะมีนักกอล์ฟสมัครเล่นชายฝีมือดีจาก 42 ประเทศสมาชิกสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมชิงชัย โดยแชมป์รายการนี้จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในระดับเมเจอร์ รายการเดอะ มาสเตอร์ส 2023 และ ดิ โอเพน ครั้งที่ 151 ณ สนามรอยัล ลิเวอร์พูล ส่วนรองแชมป์จะได้สิทธิ์ลงเล่นรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายลุ้นตั๋วลุยศึก ดิ โอเพ่น

ข้อมูลเกี่ยวกับ เอเอซี อะคาเดมี (AAC Academy)
เอเชียน เอเอซี อะคาเดมี จะจัดขึ้นที่สนามอมตะ สปริง คันทรี คลับ ในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน ถึง วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2022 ต่อยอดจากโครงการริเริ่ม สิงคโปร์ อะคาเดมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้นักกอล์ฟสร้างความคุ้นเคยกับเลย์เอาต์ของสนามอมตะ สปริงฯ ได้ดีขึ้น ภายใต้ธีม “การเตรียมพร้อมก่อนการแข่งขัน” เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้สัมผัสประสบการณ์ในระดับมาตรฐาน และรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสนามแข่งขันรายการเอเอซีมากที่สุด ซึ่งผู้เข้าร่วมอะเคมีได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มประเทศสมาชิก และจะจัดที่ดูไบในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน ถึง วันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2022


ไม่มีความคิดเห็น