Breaking News

วช. จับมือ จ.เพชรบุรี และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค วิจัยพัฒนาพื้นที่ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ


วันที่ 3 สิงหาคม 2565
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ จังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงาน : เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์จากการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชน เผยแพร่องค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในเชิงพัฒนาพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ณ เวที Highlight Stage ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า วช. ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นผลจากการขยายผลองค์ความรู้สู่จังหวัดเพชรบุรีในพื้นที่ ต.คลองกระแชง อ.เมือง และ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน ผ่านการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน โดยมีเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องที่ เศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ เศรษฐกิจท้องถิ่น ตามนโยบายกระทรวง อว. วช. มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการขยายผล การผลักดันให้งานวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา การพัฒนา การยกระดับคุณภาพชีวิต ระดับพื้นที่ชุมชน สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจังหวัดเพชรบุรี มีบทบาทสำคัญในความร่วมมือ ขับเคลื่อนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาในเชิงพื้นที่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เพื่อการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ที่ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชน เผยแพร่องค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป


นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีในการจัดการขยะชุมชนโดยใช้ระบบก๊าซชีวภาพและเตาเผาขยะลดมลพิษ เนื่องจากพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะเป็นระยะเวลานานและเป็นพื้นที่ที่จังหวัดต้องการเข้าไปดูแลเพื่อแก้ปัญหามลพิษ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ของ วช. ที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีจำนวน 2 ศูนย์ เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชนและขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์ที่ 1 คือ ศูนย์วิจัยชุมชนเมืองเพชรบุรี ที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมบริเวณย่านเมืองเก่า และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในชุมชน ศูนย์ที่ 2 คือ ศูนย์วิจัยชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการขยะ การจัดการพลังงานหมุนเวียน และการทำการเกษตรตามมาตรฐาน PGS ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่มีความประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิมในชุมชน ทั้งด้านวัฒนธรรมวิถีความเป็นอยู่ตลอดจนด้านเทคโนโลยี นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


รองศาสตราจารย์ ดร.คณพล จุฑามณี ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง
กล่าวว่า เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภูมิภาคให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนผ่านการขับเคลื่อนของเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาในชุมชน เผยแพร่องค์ความรู้รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคกลาง ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของศูนย์วิจัยชุมชนเมืองเพชรบุรีและศูนย์วิจัยชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี ในการเผยแพร่องค์ความรู้ภายในชุมชน จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์จากการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี ระหว่าง วช. กับ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัย ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี


สำหรับประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Reseach Expo 2022)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 – 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานและติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th, Facebook Fanpage: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0 2579 1370 – 9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524


ไม่มีความคิดเห็น