Breaking News

วช. ชี้แจงกรอบการวิจัย ปี 2565 พร้อมแถลงผลสำเร็จ NRCT Open House 2021


วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2565 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) NRCT Open House 2021 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ระหว่างวันที่ 18 - 25 กรกฎาคม 2564
ในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook NRCT เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. 


โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมออนไลน์ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หรือ PMU (Program Management Unit) บริหารงบประมาณวิจัยด้าน ววน. ตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results: OKR) ชัดเจน โดยภายในการประชุมดังกล่าว มีการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้โปรแกรมที่ 7 แก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเกษตร


กิจกรรมภายในงานประชุมการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2565 มีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2565” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว นายวรวุฒิ ตันติวนิช ดร.สมชาย ใบม่วง ศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ดร.เกศศินี อุนะพำนัก และ ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 


และยังมีการแถลง “ผลสำเร็จจากผลการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช.” ของนักวิจัย ทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ศ. ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง รศ. ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี ผศ. ดร.โพยม สราภิรมย์ และ รศ. ดร.รังรอง ยกส้าน ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม


ไม่มีความคิดเห็น