Breaking News

วช. ชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 พร้อมแถลงผลสำเร็จของนวัตกรรมเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2021 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ระหว่างวันที่ 18 – 25 กรกฎาคม 2564
ในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook NRCT เป็นวันที่ 7 โดยเป็นการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมโดยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมออนไลน์


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลกับประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งความกังวลจากจากการติดเชื้อและความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมา โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดจากการกลายพันธ์ของเชื้อ การเกิดคลัสเตอร์ใหม่ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายพื้นที่ของประชาชน และการป้องกันตัวเองของประชาชน จึงก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพจิต ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และด้านการจ้างงาน จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดย วช. มีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ระยะแรกของการระบาด เริ่มเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้น เมื่อควบคุมการระบาดได้ และเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ และจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม การติดตามประเมินผลวัคซีน การศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน ชุด PAPR หน้ากาก silicone mask N99 ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ หน้ากาก KN95 เครื่องพ่นละอองนาโน การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร เช่น กระชายขาว และฟ้าทะลายโจร

ในปีงบประมาณ 2565 มีกรอบการวิจัยจำนวน 14 ประเด็น โดยเป็นกรอบการวิจัยและนวัตกรรมทั้งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 และรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต


โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการเสวนา เรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 และรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ เพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ. กิตติคุณ นพ. จิตร สิทธีอมร ศ. นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คุณธานินทร์ ผะเอม นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร 


นอกจากนี้ ยังมีการแถลงผลสำเร็จจากผลการวิจัยและนวัตกรรม “Covid-19 พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ประกอบด้วย วัคซีน mRNA โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม วัคซีนใบยา โดยรศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ ชุด PAPR โดย นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ ห้อง ICU ความดันลบ และเตียงความดันลบ โดย ผศ.ดร. ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ การปรับตัวของชุมชนวิถีใหม่ในสถานการณ์ Covid-19 โดย รศ.ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนายังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัย และให้ข้อแนะนำแก่นักวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการเสนอขอรับทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น