วช. หนุนจัดกิจกรรมการสร้างเครือข่ายข่าวเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม โดยการมีส่วนร่วมของเยาวชน 20 สถาบัน กว่า 100 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนการจัดกิจกรรม “โครงการ การเมืองเยาวชนร่วมสมัย กับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม” โดยความรับผิดชอบของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
เนื่องจากปัจจุบันพบการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ หรือที่เรียกกันว่า “ข่าวปลอม” อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้แพร่กระจายข่าวปลอมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะข่าวปลอมทางด้านการเมือง และกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ตกเป็นเหยื่อของการแพร่กระจายข่าวปลอมคือกลุ่มเยาวชน เพราะมีพฤติกรรมการเสพข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2565 โดย มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่มีการแพรร่ระบาดของข่าวปลอมในรูปแบบต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มเยาวชน เพราะมีพฤติกรรมการเสพสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ผลจากการรับข่าวสารมักจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในมิติลบ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยไม่ควรมองข้าม คำถามที่ตามมาคือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของข่าวปลอม ถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่ และสื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชนด้วยหรือไม่
ซึ่่งเป็นปัญหาที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย วช.ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จึงได้ให้การสนับสนุนการวิจัย “โครงการ การเมืองเยาวชนร่วมสมัย กับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม” ในการค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอมผ่านกิจกรรมความรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการรู้เท่าทันข่าวปลอม เพื่อเสริมความรู้ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองสำหรับเยาวชนระดับอุดมศึกษา สร้างเครือข่ายเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง และเพื่อถอดบทเรียนกิจกรรมสร้างแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม อันจะนำไปสู่การสร้างกลไกแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมสร้างแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ในรูปแบบกระบวนการ และการ WORKSHOP การผลิตสื่อ TIKTOK เยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ON SITE กลุ่มเป้าหมายที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีสถาบันการศึกษา 20 สถาบัน และนักศึกษาอีกประมาณ 100 คน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การสร้างแนวร่วมเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม รณรงค์เยาวชนสร้างความตระหนักเรื่องพิษภัย ผลกระทบ และสามารถแยกแยะ ตรวจสอบข่าวปลอมทางด้านการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ และได้สื่อ TikTok การรู้เท่าทันข่าวปลอมทางด้านการเมือง และได้กลไกเยาวชนร่วมสมัยกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น