รมว.อว. เปิดบูธ “NRCT Woodland ดินแดนแห่งป่า" ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565
วันที่ 14 สิงหาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดงานอย่างเป็นทางการมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
โดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ผศ.ดร.รวิ รนะวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งขาติ เอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมในพิธีเปิดงาน ณ อาคาร 9 - 10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
โอกาสนี้ ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรทัศน์ รมว.อว. ให้เกียรติเป็นประธานเปิดบูธ " NRCT Woodland ดินแดนแห่งป่า" พร้อมด้วย ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ร่วมงาน และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้การต้อนรับ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยคณะผู้บริหาร อว. ได้ร่วมกันปลูกต้นสักทอง และต้นกันเกรา ณ บูธนิทรรศการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. ได้ระดมองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไม้มีค่าของไทย เพื่อไปร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “NRCT Woodland ดินแดนแห่งป่า” ให้ความรู้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจของประเทศไทย และการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเกมให้ความรู้และของที่ระลึกมากมาย สำหรับรายละเอียดการจัดนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 โซน มีทั้งภาคนิทรรศการให้ความรู้การเล่นเกม และกิจกรรมให้ลงมือทำ พร้อมกับการแจกของที่ระลึกสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน คือ โซนที่ 1 ป่าไม้ของเรา ให้ความรู้ในการจำแนกกลุ่มไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยเกมต่อภาพ โซนที่ 2 ต้นไม้ของเรา ให้ความรู้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจในแต่ละภาคของประเทศไทยด้วยเกมโยนลูกเต๋า โซนที่ 3 ประโยชน์ของไม้มีค่า ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยเกมหมุนป้ายให้ ชื่อภาพและประโยชน์ของไม้ประเภทนั้นให้ตรงกัน โซนที่ 4 โซนนั่งเล่น ให้ความรู้เรื่องโครงการชุมชนไม้มีค่าที่ วช. มีบทบาทในการขับเคลื่อนกลไก “การวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน” โดยสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่าของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โซนที่ 5 บ้านของเรา ให้ความรู้เรื่องการเริ่มปลูกต้นไม้ การขอพันธุ์กล้าไม้ และอื่น ๆ พร้อมด้วยกิจกรรมประดิษฐ์บ้านไม้จิ๋ว โดยวิทยากร เพื่อเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านงานไม้ การนำไม้เหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยศิลปะการออกแบบตกแต่งงานไม้สำหรับเป็นของใช้หรือของแต่งบ้าน
ไม่มีความคิดเห็น