Breaking News

หัวเว่ยจับมือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดงาน “Walk into ICT Industry” ร่วมบ่มเพาะบุคลากรด้านไอซีที


กรุงเทพฯ ประเทศไทย, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
หัวเว่ยร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดงาน “Walk into ICT Industry” เตรียมความพร้อมเยาวชนในระหว่างการประชุม Youth Summit ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ หัวเว่ยได้ต้อนรับตัวแทนนักศึกษากว่า 20 คนจากทั่วประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมโซลูชันและการเรียนรู้ (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center หรือ CSIC) ของบริษัทฯ ในกรุงเทพฯ และเข้ารับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลโดยทีมงานจาก Huawei ASEAN Academy นักศึกษากลุ่มนี้ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Girls in ICT Day Thailand 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดย ITU ในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

ภายในงาน “Walk into ICT Industry” นักศึกษา 20 คน ไม่เพียงแต่จะได้สัมผัสเทคโนโลยีไอซีทีล่าสุดภายในศูนย์ CSIC ของหัวเว่ย แต่ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที และเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มเติม โดยกิจกรรมครั้งนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย

นางสาวอัตสึโกะ โอคุดะ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ ITU กล่าวว่า “เยาวชนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และดิจิทัล เทคโนโลยี ICT คือเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุน และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ดิฉันต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ช่วยผลักดันการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย”

ด้านนายลิว ซีผิง รองเลขาธิการองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (APT) กล่าวว่า “การเข้ามามีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมอย่างจริงจังในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านทักษะ ไอเดียนวัตกรรม และโอกาสทางด้านอาชีพ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนนักศึกษาที่มาร่วมงานในวันนี้จะได้รับประโยชน์มากมายจากการเยี่ยมชมศูนย์ CSIC และการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลที่หัวเว่ยจัดขึ้นในวันนี้”

กิจกรรม “Walk into ICT Industry” ยังได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐหลายสังกัดมาร่วมเสวนาบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยประเทศไทยตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีสัดส่วนถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งปัจจุบัน หลายๆ ภาคส่วนจึงได้เร่งระดมกำลังเพื่อผลิตและยกระดับทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลให้กับประเทศ

นายนทชาติ จินตกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กล่าวว่า “ไอซีทีมีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับการศึกษา ลดอัตราการว่างงานของเยาวชน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลของหัวเว่ยได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน ผมชื่นชมในความตั้งใจของหัวเว่ยซึ่งสัมผัสได้จากการจัดกิจกรรม Walk into ICT Industry ในวันนี้”

ด้านนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ว่า “ผมเชื่อว่าโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการลดช่องว่างด้านทักษะของบุคลากรดิจิทัลของประเทศ ด้วยการติดปีกเยาวชนไทยให้มีทักษะจำเป็นที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”

การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่หัวเว่ยให้ความสำคัญเสมอมา และมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และทักษะดิจิทัล จากรายงาน WEF Digital Skill Report พบว่าประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นเพียง 55% เท่านั้น ขณะที่ประเทศกำลังเร่งเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน ในโอกาสนี้ นายเอดิสัน สวี คณะกรรมการบริหารของหัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวแสดงความขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วนสำหรับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมเสมอมา “ในฐานะผู้ให้บริการด้านไอซีทีหัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการ Generation Connect ของ ITU พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอีโคซิสเต็มที่จะช่วยยกระดับบุคลากรด้านไอซีทีของประเทศไทย โดยผ่านทาง Huawei ASEAN Academy โครงการ Spark Program และโครงการ Seeds for Future” พร้อมทั้งย้ำทิ้งท้ายว่าหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เยาวชนชาวไทยได้เข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อเป็นสนับสนุนการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านไอซีทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ยจึงได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรด้านดิจิทัลกว่า 500,000 คนในภูมิภาคนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งลงทุนอีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มสำหรับสตาร์ทอัพในเอเชียแปซิฟิก

ภายใต้ภารกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)” หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วนเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับบุคลากรด้านไอซีทีในประเทศไทย โดย Huawei ASEAN Academy ได้ให้การฝึกอบรมแก่บุคลากรด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 41,000 คนตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำหรับเป้าหมายในอนาคต หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าอย่างเต็มกำลังเพื่อปิดช่องว่างระหว่างความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนและทักษะที่อุตสาหกรรมต้องการ สำหรับการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชั่นที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อน โลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและบริการที่ครบวงจรของหัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ทุกรูปแบบและทุกขนาด

นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เรามีพนักงานกว่า 194,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการได้ที่ https://superai.aiat.or.th/


ไม่มีความคิดเห็น