Breaking News

อมาตย เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พร้อม 60 นักปฏิรูปจาก 14 ประเทศทั่วโลก ร่วมหาทางออกหลังวิกฤตโควิด-19 กระทบเด็กหลายล้านคนทั่วโลกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ

โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาฯ ร่วมปาฐกถาพิเศษ “สี่ ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อย โอกาส”

อมาตย เซน (Amartya Sen)
อมาตย เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อลิส อัลไบร์ท (Alice Albright) ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก หรือ Global Partnership for Education (GPE) องค์กรที่มุ่งสนับสนุนการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามาแล้วกว่า 68 ประเทศ และ อันเดรียส ชไลเคอร์ (Andreas Schleicher) ผู้ริเริ่มและอยู่เบื้องหลังการประเมินทักษะนักเรียนนานาชาติหรือ PISA ร่วมประชุมเพื่อหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในวิกฤตโควิด-19 พร้อมนักปฏิรูป ผู้นำด้านการศึกษากว่า 60 คนจาก 14 ประเทศ ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา:ปวงชนเพื่อการศึกษา (ALL FOR EDUCATION) ภายในงานได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และ ทรงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก และเยาวชนด้อยโอกาส” ในวันที่10-11กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้


งานนี้จัดขึ้นโดย กสศ.หนึ่งในองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ธนาคารโลก (World Bank) Global Partnership for Education และ Save the children UNESCO และภาคีเครือข่าย เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างบาดแผลให้กับประชาชนทั่วโลกในระยะยาว ซึ่งอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกสังคมละเลยอยู่ในขณะนี้คือปัญหาช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยิ่งขยายตัวมากขึ้น จากการที่เด็กและเยาวชนกว่า 90% ทั่วโลกต้องออกจากระบบการศึกษาชั่วคราว

โดยข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ชี้ว่ามีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่นอกระบบการศึกษา ทำให้นักปฏิรูปและนักวิชาการทั่วโลกประเมินว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยจะมีเด็กหลายล้านคนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีตัวเลขผู้ยากจนด้อยโอกาส อยู่ 4.3 ล้านคน เป็นนักเรียนยากจน 1.8-2 ล้านคน และเป็นเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา 5-6 แสนคน หากมองในมิติที่กว้างขึ้นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสาเหตุหลักที่จะกระทบสู่คุณภาพชีวิต ทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาประชากรที่มีคุณภาพอีกด้วย


งานประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 08.30-16:00 น. และ ในวันเสาร์ ที่ 11 กรกฎาคม เวลา 09:00-15:00 น. โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนฟรีเพื่อเข้าประชุมออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ http://afe2020.eef.or.th/


ไม่มีความคิดเห็น