สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย แถลงภาพรวมสถานการณ์ราคาและตลาดปุ๋ยเคมี 2564
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ณ Victor Club Samyan Mitrtown ชั้น 7 สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย (TFAS) จัดแถลงข่าวภาพรวมสถานการณ์ราคาและตลาดปุ๋ยเคมี 2564 มีคณะกรรมการสมาคมฯ เข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย นายวชิรศักดิ์ อรรจนานนท์ ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ นายศุภชัย ปานดำ กรรมการฝ่ายวิชาการ นายรัสชัย เหรียญพาณิชย์ กรรมการบริหารสมาคม นายทวีสุข เมฆธวัชชัยกุล รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ และนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่น เข้าร่วมชี้แจง
ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมายังปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลกประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส หรือ COVID-19 ในส่วนของภาคการผลิตสินค้าเกษตร ประเทศไทยต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์บางชนิด สารอารักขาพืช และ “ปุ๋ยเคมี” ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงแรกๆ คือการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจด้านโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการปิดเมืองสำคัญ รวมถึงการปิดประเทศ
ในภาพรวมของธุรกิจภาคการเกษตรได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการผลิตทางการเกษตร คือ “ปุ๋ยเคมี” ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ประมาณ 90-95 % มาเพื่อผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ในช่วงปลาย ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี มีระดับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากหลายๆ ปัจจัย จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตพืชอาหาร ดังนั้น ปุ๋ยเคมี จึงเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความจำเป็นและมีความต้องการมากขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้ปุ๋ยเคมี มีระดับราคาที่สูงขึ้นประกอบด้วย
1. สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร
2. ราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น
3. การกำหนดนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหารของแต่ละประเทศ
4. นโยบายการชะลอการส่งออกปุ๋ยเคมีของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2564
5. วิกฤตราคาพลังงานน้ำมัน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน
6. วิกฤตการขนส่ง (Logistic) ระหว่างประเทศส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับราคาสูง
7. ความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก
จากปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลต่อความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย เป็นต้น การนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยเคมี แบ่งออกเป็นสามชนิด ประกอบด้วย ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen) การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนจะมีสารตั้งต้นคือสารแอมโมเนียซึ่งมีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนซึ่งส่วนใหญ่ได้จากก๊าซธรรมชาติในกระบวนการปิโตรเคมี หรือกระบวนการผลิตถ่านหิน สารแอมโมเนียนั้นใช้ในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนต่าง ๆ ได้แก่ ยูเรีย (46-0-0) และแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ซึ่งราคาน้ำมัน ถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของราคา Granular Urea ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018-2021 (ตุลาคม)
ที่มา: สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิการเกษตรไทย (ตุลาคม 2564)
วัตถุดิบตัวถัดไป ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus) ซึ่งทำมาจากหินชนิดหนึ่งเรียกว่า หินฟอสเฟต วิธีการผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัสที่นิยมกัน ก็คือนำหินฟอสเฟตมาบดละเอียดและมาทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันก็จะได้กรดฟอสฟอริก กรดฟอสฟอริกนี้ถือเป็นตัวต้นน้ำของปุ๋ยฟอสฟอรัส กรดฟอสฟอริกเป็นของเหลวซึ่งยากต่อการใช้ การเก็บรักษาและการขนส่ง จึงได้นำกรดฟอสฟอริกไปทำปฏิกิริยากับแอมโมเนีย กลายเป็นแม่ปุ๋ย DAP (Diammonium Phosphate) สูตร 18-46-0 แม่ปุ๋ย MAP (Monoammonium Phosphate) สูตร 11-52-0 หรือใช้กระบวนการผลิตเดียวกันนี้ผลิตเป็นปุ๋ย N-P-K สูตรต่าง ๆ สำหรับปุ๋ยฟอสฟอรัสนั้น กรณีที่หินฟอสเฟตแพง ปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วย และถ้ากรดกำมะถัน (sulfuric acid) แพงปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วยเช่นกัน
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของราคา DAP ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018-2021 (ตุลาคม)
วัตถุดิบอีกตัวหนึ่งคือ ปุ๋ยโพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ที่ขุดจากดินได้โดยตรง ที่เรียกกันว่าแร่โพแทช ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดอุดรธานี หากโครงการพัฒนาเหมืองดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก็จะได้แม่ปุ๋ยโพแทสเซียมใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าปีละประมาณ 600,000-800,000 ตันต่อปี
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของราคา STD MOP ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018-2021(ตุลาคม)
ตาราง แสดงการนำเข้าปุ๋ยเคมี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2563
ปัจจุบัน ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ปัจจุบันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นที่ภาครัฐบาลและเอกชนร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรคือ การขายปุ๋ยเคมีในราคาพิเศษ ผ่านสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มสถาบันเกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่ครั้งแรก ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีการขยายเป็นครั้งที่สองจนถึงเดือนตุลาคม 2564 โดยทางสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ช่วยเหลือปุ๋ยเคมีราคาพิเศษกับเกษตรกร 201,106 ตัน หรือ 4,022,120 กระสอบ
จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้นดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดีที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ปุ๋ยมีราคาแพง เนื่องจากปุ๋ยเคมีเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ควรทำอย่างระมัดระวัง ผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีอย่างลึกซึ้ง ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจออก
นโยบาย มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทรกแซงกลไกของตลาด โดยทั่วไปแล้วจะทำให้เกิดสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “การสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ (Deadweight loss)” ดังนั้นภาครัฐควรประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำการแทรกแซง มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการทำไปเพื่ออะไร ตอบโจทย์การช่วยเหลือเกษตรกรจริงหรือไม่ และที่สำคัญ ได้ผลดีมากกว่าผลเสียหรือเปล่า
จากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID -19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรกรของไทย รวมทั้งเศรษฐกิจโลก ดังนั้นนโยบายภาคการเกษตรของประเทศไทยจะต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีทิศทางและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงและสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ดีขึ้น หลายปีที่ผ่านมาภาครัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับต่อประเทศต่างๆ แต่สิ่งที่จะรองรับนโยบายดังกล่าว คือ ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อปรับแต่งพืชผลตามที่ต้องการ เช่น เร่งการเจริญเติบโตของใบและต้น เร่งการออกดอกออกผล เพิ่มขนาดและคุณภาพผลผลิต ซึ่งส่วนนี้ “ปุ๋ยเคมี” ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพก็ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและถูกวิธี และต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร การวิเคราะห์ดิน-พืช ซึ่งเป็นมาตราการที่จะต้องนำมาใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการเพาะปลูกพืช เช่น GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช (Good Agricultural Practice) เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ไม่มีความคิดเห็น