ยิ่งใหญ่“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” แบบ New Normal
กลับมาอีกครั้ง กับงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 งานเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงการบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ คัดผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 500 ผลงาน มาให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาเรียนรู้อย่างใกล้ชิดขึ้น ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 - 26 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในปีนี้ วช. ได้มีการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ Covid Free Setting ได้รับการร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมทั่วประเทศในการร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ด้วยความตั้งใจที่ วช. จะส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบผสมผสานที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite สามารถเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัย
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ปีนี้ วช. ได้นำประเด็นตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงนโยบายของรัฐและประเด็นที่เป็นปัญหา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกที่ได้เผชิญวิกฤตการการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 มากำหนดเป็นธีมในการนำเสนอผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้ 1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Model 6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 7) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่
พร้อมทั้งนำเสนอนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทยและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และนิทรรศการเทิดพระเกียรติฉายพระอัจฉริยะภาพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการการนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในวิจัยทั่วประเทศในรูปแบบไฮบริด โดยมีการจัดประชุมสัมมนาด้วยระบบออนไลน์กว่า 100 หัวข้อ และสามารถชมนิทรรศการได้ในรูปแบบ Visual Exhibition ที่จำลองบรรยากาศงานผ่านแพลตมฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการ Live ในแต่ละวัน
นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นทศวรรษของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จึงจัดให้มีนิทรรศการชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมในภาคการประชุมยังมีหัวข้อที่หลากหลายทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับ MASCOT ในปีนี้ ได้แก่ “น้องวิจัย” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์นักวิจัยแบบซูเปอร์ฮีโร่ทางการแพทย์ เพื่อเป็นการยกย่อง ทีมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเอาความรู้ที่มีจากงานวิจัยมาพัฒนาสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ในการดูแลรักษาช่วยเหลือผู้คนในช่วงโควิด-19 พร้อมเปิดตัว “ทูตวิจัย” ประจำปี 2564 “เพื่อน คณิน ชอบประดิถ” เป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความช่างสังเกต เรียบง่าย และสามารถเข้าถึงงานวิจัยใกล้ตัวได้
ไม่มีความคิดเห็น