งานวิจัยทุเรียนแกะเนื้อ ได้รับการสนับสนุนจาก วช.
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมมือกับบริษัท/ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภคหลายแห่ง ในหัวข้อ “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” เพื่อแก้ปัญหาการขนส่งทุเรียนทั้งผล เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงและผลแตกขณะขนส่งหรือวางจำหน่าย ณ ประเทศปลายทาง เมื่อแกะเนื้อออกมาจากผลแล้วเนื้อผลมีอายุในการเก็บรักษาสั้น จึงเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของการส่งออกและการวางจำหน่าย ซึ่งการทำทุเรียนสดตัดแต่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์เพื่อเก็บทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคนั้นต้องออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อคงความสดไว้ให้ยาวนาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีสิ่งเจือปนหรือสารพิษตกค้างรวมถึงได้มาตรฐานสากลและจะต้องขนส่งผ่านทางเครื่องบิน เนื่องจากทุเรียนเป็นไม้ผลที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การขนส่งทางเครื่องบินจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับขนส่งทุเรียนเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยทางทีมวิจัยได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นดูดความชื้น ร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการส่งออก
สารดูดซับเอทิลีนเป็นสารไม่มีกลิ่น เสถียรในสภาวะปกติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานแบบแข่งขันของเอทิลีน ส่งผลให้ยืดอายุการเก็บรักษาในผลไม้ได้หลายชนิด ได้แก่ แอปเปิล น้อยหน่า มะเขือเทศ ทุเรียน กล้วย อะโวกราโด ท้อ เนคทาลีน บ๊วย และสาลี่ เป็นต้น โดยทางคณะผู้วิจัยได้เปิดเผยผลการทดลองว่า การใช้บรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นดูดความชื้นร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนส่งผลให้สภาพแวดล้อมภายในกล่องไม่มีหยดน้ำเกาะ ลดกลิ่นรบกวน และที่สำคัญ คือ ชะลอการสุกแก่ของผลทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคได้เป็นระยะเวลา 28 วัน ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและโอกาสในการส่งออกทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภค สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น