Breaking News

เปิดฉาก! มหกรรมอินเตอร์แมค-ซับคอนไทยแลนด์ 2019 คาดจับคู่ธุรกิจ 8000 คู่ ปั๊มเงินสะพัดภายในงาน 1.4 หมื่นล. ดันไทยศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรม


นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานอินเตอร์แมค-ซับคอนไทยแลนด์ 2019 (INTERMACH & SUBCON Thailand 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พ.ค.2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ว่าการจัดงานซับคอนไทยแลนด์คู่ขนานกับงานอินเตอร์แมคเป็นงานรวบรวมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำมาไว้ในงานเดียวกันครั้งยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค เป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรม และเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ได้มีโอกาสจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายใหญ่หรือผู้ซื้อ สร้างโอกาสการต่อยอดธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับบริษัทผู้ซื้อจากทั่วโลก แสดงถึงศักยภาพการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยรองรับการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรม


คาดการจัดงานครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 25,000 คน มีมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านบาท และเกิดการจับคู่ธุรกิจกว่า 8,000 คู่ จากบริษัทผู้ซื้อ 30 ประเทศทั่วโลกจำนวน 400 บริษัท ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบีโอไอ ต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และอเมริกา โดยเฉพาะสำนักงาน บีโอไอ ณ กรุงปารีส ได้นำบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานจากทั่วโลกจำนวน 34 บริษัทมาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย


โดยการจัดนิทรรศการและกิจกรรมภายในงานปีนี้นอกจากจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เข้มแข็งและมีแรงงานทักษะสูงแล้ว ยังขยายไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จัดแสดงระบบการผลิตด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ที่แสดงนวัตกรรมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยสมาคมเครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) จะจัดแสดงสายการผลิตแบบ 4.0 แบบเต็มรูปแบบ

อุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุง ที่บริษัท เจฟอกซ์ แอร์คราฟท์ จำกัด นำเครื่องจำลองการฝึกบินหรือไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด นำเครื่องบินเล็กไจโร คอปเตอร์ แบบ 2 ที่นั่งผลิตโดยฝีมือคนไทย มาจัดแสดงภายในงาน พร้อมการสัมมนาส่งเสริมองค์ความรู้ด้านอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุง (Aerospace & MRO Summit Bangkok 2019) ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 ร่วมกับ ABE (Advance Business Events) ผู้จัดงานสัมมนาและจับคู่ธุรกิจด้านอากาศยานและซ่อมบำรุงรายใหญ่จากประเทศฝรั่งเศส


ด้าน นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริหาร บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่างานปีนี้จะนำเสนอภายใต้ธีม 'โซลูชั่นการผลิตการเชื่อมต่ออัจฉริยะ' (Connecting Intelligent Manufacturing Solutions) มีผู้ประกอบการกว่า 12,000 แบรนด์ จาก 45 ประเทศเข้าร่วม และมีประเทศผู้ผลิตนำผลงานมาจัดแสดงในรูปแบบพาวิลเลียนจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และจีน รวมถึงการสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)


 “ไฮไลท์ของงานมีการแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมและการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่คิดค้นและออกแบบโดยบริษัท เจอแรงการ์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยได้รับฉายาว่า ไอรอนแมนเมืองไทย จากบริษัทโรบอทซีสเต็ม ​Demonstration and Innovation center ให้ผู้เข้าชมงานสามารถทดลองใช้โปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับเครื่องควบคุมอัตโนมัติ เพื่อสัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เชื่อมโยงเครื่องจักรให้ทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โชว์การทำงานแบบเรียลไทม์ตั้งแต่สร้างภาพไปจนถึงโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบ

ไม่มีความคิดเห็น