Breaking News

จากหน้ากากดำน้ำสู่หน้ากากป้องกันโควิด-19

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคสำหรับบุคลากรแพทย์ขาดแคลน ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจึงระดมความคิดเพื่อประยุกต์สิ่งใกล้ตัวให้กลายเป็นอุปกรณ์รับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และชุดหน้ากาก PAPR จากหน้ากากดำน้ำคือหนึ่งในนวัตกรรมที่ดัดแปลงขึ้นมารับมือกับเชื้อโรค

ชุดหน้ากาก PAPR จากหน้ากากดำน้ำ แบบ Tight-Fitting PAPR
หน้ากากดำน้ำที่ประกอบเข้ากับชุดกรองอากาศเป็นหนึ่งในงานวิจัยการพัฒนาหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง
เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และร่วมพัฒนากับทีมวิจัยภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

อ.พงศธร ชมดี กับชุดหน้ากาก PAPR แบบ Tight-Fitting PAPR 
อ.พงศธร ชมดี ตัวแทนทีมวิจัยภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
อธิบายว่าหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงหรือหน้ากาก PAPR ที่พัฒนาขึ้นมานั้น มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกที่พัฒนาขึ้นมาก่อนประยุกต์ใช้หมวกนิรภัยสำหรับอุตสาหกรรม มีพัดลมและชุดกรองอากาศที่เป่าลมเข้าไปในหมวกเพื่อให้แรงดันในหมวกเป็นบวกเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งช่วยป้องกันอากาศจากภายนอกเข้าไปในหมวก ใช้พลังงานจากแบตเตอรีสำรองไฟหรือพาวเวอร์แบงก์ ซึ่งใช้งานได้นาน 4 - 6 ชั่วโมง จากนั้นได้พัฒนาอีกรูปแบบที่ประยุกต์หน้ากากดำน้ำมาใช้ โดยมีหลักการทำงานคล้ายกัน แตกต่างเพียงขนาดและความคล่องตัวในการใช้งาน

อ.พงศธร ชมดี กับชุดหน้ากาก PAPR แบบ loose fitting PAPR
การเลือกใช้หน้ากากดำน้ำมาพัฒนานั้น อ.พงศธร อธิบายว่าระหว่างการพัฒนาชุด PAPR ทีมพัฒนาได้หารือกันเรื่องการพัฒนา mini PAPR ที่สามารถสวมใส่และถอดได้ง่ายกว่าชุด PAPR แบบปกติ ทั้งนี้ ชุด PAPR ในต่างประเทศจะแบ่งออกเป็น 1. แบบ loose fitting PAPR ซึ่งเป็นชุด PAPR ที่มีขนาดใหญ่ และ 2. แบบ Tight-Fitting PAPR ที่เป็น mini PAPR ซึ่งมีขนาดเล็กและกระชับใบหน้ามากกว่า

งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ไม่มีโรงพยาบาลใดๆ ในประเทศไทยหรือในโลกที่เตรียมพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมาก่อน ทำให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งปกติมีการสำรองอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มากอยู่แล้ว และมีใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยวัณโรคหรือผู้ป่วยอีสุกอีใส

รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
โรงพยาบาลไม่ได้ออกแบบมารองรับโควิด-19รศ.นพ.อนันต์กล่าวถึงอุปสรรคต่อการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเล่าถึงสถานการณ์เมื่อครั้งโควิด-19 ระบาดในไทยระลอกแรกว่า ประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ต่างระงับการส่งออกอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชซึ่งรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย N95 และไม่สามารถหาซื้อได้เลยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จึงต้องประยุกต์ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว

จากที่เห็นบุคลากรที่ใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวนี้ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 เลย ทั้งที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลรับผู้ป่วยโควิด-19 ตลอด แต่ไม่มีบุคลากรติดเชื้อแม้แต่รายเดียว แต่หลังจากนี้จะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน ก็ต้องให้ผู้ประกอบเป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนต่อไปที่จะรับนวัตกรรมนี้ไปพัฒนาต่อรศ.นพ.อนันต์กล่าว

ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาดส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขาดแคลนเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้งานได้อย่างเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานสูง ดังนั้น อว. จึงมอบหมายให้ วช. ซึ่ง เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วช. จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว


ไม่มีความคิดเห็น