Breaking News

ทีเส็บยกระดับความมั่นใจด้วยมาตรฐาน เพื่อรองรับการกลับมาของธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืน


29 มีนาคม 2566 – กรุงเทพฯ
: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ยกระดับความมั่นใจด้านมาตรฐาน รองรับการกลับมาของนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่สอดคล้องการยกระดับด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อสร้างความได้เปรียบและการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้เพื่อมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐาน ภายใต้งาน MICE Standards Day 2023 ให้กับผู้ประกอบการไมซ์ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 8 โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Auditorium ชั้น 10 C ASEAN อาคาร CW Tower รัชดา

มาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญของทุกอณูของธุรกิจไม่เพียงแต่งานไมซ์ ซึ่งมาตรฐานที่รองรับการกลับมาของธุรกิจแน่นอนคือสถานที่การจัดงาน (Venue) ที่มีห้องประชุม พื้นที่จัดแสดงกิจกรรมพิเศษ ศูนย์ประชุม หรือ สถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ ที่เรียกว่า Special Event Venue เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมที่ผู้จัดงานส่วนมากเลือกและสรรหา เพื่อตอบโจทย์การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ดังนั้น มาตรฐานที่ทีเส็บมุ่งยกระดับไม่เพียงแต่สถานที่การจัดงาน แต่ยังเน้นการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไมซ์ด้านมาตรฐานบุคลากร และมาตรฐานองค์กร ที่มีคุณภาพระดับสากลตอบโจทย์การกลับมาของธุรกิจไมซ์


ปัจจุบัน ทีเส็บ ตั้งเป้าหมายในการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์โดยวางประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ในภูมิภาคเอเชียด้วยมาตรฐานสากลผ่านนโยบายขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่

(1) National Standard ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เริ่มดำเนินโครงการ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) เมื่อปี 2557 เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์และดำเนินการสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาทุกปี คุณภาพมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ประกอบด้วย ประเภทห้องประชุม (Meeting Rooms) ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า (Exhibition MICE Venue Standard) และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) เพื่อกระตุ้นและดึงดูดการจัดงานเมกะอีเว้นท์และเฟสติวัลระดับนานาชาติสู่ภูมิภาค 10 เมืองไมซ์ซิตี้ นอกจากนี้ ทีเส็บยังมุ่งเน้นพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เพื่อให้ตอบสนองและเท่าทันต่อแนวโน้มและสถานการณ์ของโลก ที่ความยั่งยืนถือเป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนในอุตสาหกรรมไมซ์ จึงได้ริเริ่มและจัดทำมาตรฐานด้านการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย หรือ Thailand Sustainable Event Management Standard: TSEMS นี้ ขึ้นในปี 2561 และรับรองหน่วยงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรได้อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายการรับรองผู้ประกอบการไมซ์ผ่านใน 5 ปี จำนวน 500 องค์กร

(2) Regional Standard พัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานระดับอาเซียน ASEAN MICE Venue Standard (AMVS) ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนด้านอุตสาหกรรมไมซ์และเป็นผู้ริเริ่มกำหนดใช้มาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยและขยายผลสู่มาตรฐานสถานที่จัดงานในระดับอาเซียน ซึ่งมี 3 ประเภทเช่นกัน คือ ประเภทห้องประชุม (Meeting Rooms) ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า (Exhibition MICE Venue Standard) และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Event Venue) โดย ทีเส็บ ตั้งเป้าร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รองรับมาตรฐาน AMVS ภายใน 5 ปี จำนวน 500 แห่ง เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางธุรกิจไมซ์แห่งอาเซียนในอนาคต

และ (3) International Standard ส่งเสริมและกำกับคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการด้วยการใช้มาตรฐานสากลและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริการมาตรฐาน ISO สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ทุกประเภท ซึ่งมาตรฐานการบริหารการจัดการงานอย่างยั่งยืน (ISO 20121) Event sustainability management systems ปัจจุบันเป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบการไมซ์มีความสนใจเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเข้าร่วมการจัดประชุม COP 21 ในปี 2015 มาตรฐานดังกล่าวกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้เปรียบในการแข่งขันในระดับสากล


นอกจากมาตรฐานทั้ง 3 ระดับ ทีเส็บ ยังคงขับเคลื่อนไมซ์ด้านมาตรฐานบุคลากร เพื่อสอดรับกับการเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ทีเส็บในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ได้รับการประกาศให้เป็นองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพการจัดประชุมนิทรรศการ (CB : Certified Body) โดยเพิ่มบทบาทเป็นศูนย์กลางการทดสอบฝีมือแรงงานและให้การรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพของบุคลากรไมซ์ ซึ่งบุคลากรสามารถเข้ามาประเมินความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะด้านวิชาชีพไมซ์ตามหลักเกณฑ์การประเมิน คาดว่าภายใน 5 ปีจะมีผู้ผ่านการรับรองกว่า 500 คน ซึ่งทีเส็บมีเป้าหมายยกระดับองค์กรสู่การเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในระดับอาเซียนในอนาคตอีกด้วย


ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ
กล่าวว่า “ทีเส็บ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนามาตรฐาน ไม่เพียงแต่มาตรฐานสถานที่การจัดงาน มาตรฐานด้านการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน และมาตรฐานอาชีพของบุคลากรไมซ์ ทั้ง 3 มาตรฐานคือสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนไมซ์ไทย สู่การเป็น MICE Destination สามารถยกระดับการบริการอย่างมืออาชีพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อมโยงไปยังยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในประเด็นของการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การทำมาตรฐานถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเป็นกลไลขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและจุดหมายปลายทางของการจัดงานประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก ที่เน้นคุณภาพและตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน”


ส่วน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ เรายังมองไปถึงเรื่องของการยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนทั้งมวล หรือเรียกว่า MICE for All โดยร่วมกับ มูลนิธิสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ในการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design Guide Book เพื่อส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมาตรฐานสากล ทุกคนใช้ได้ ทุกวันใช้ดี สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย ด้วยหลักคิดที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล สอดคล้องกับเป้าหมายสากลว่าด้วยเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยปีนี้ทีเส็บ ได้พัฒนาส่งเสริมให้สถานที่การจัดงานที่ได้มาตรฐาน เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายใต้แนวคิด TMVS Plus for All เน้นย้ำการบริหารสถานที่การจัดงานทั้งส่วนของกายภาพ เทคโนโลยี และการบริการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล”


นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี 2583 คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีคนพิการมากกว่า 2 ล้านคน อีกทั้งกลุ่มผู้ป่วย ผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง ผู้ที่ใช้รถเข็น รวมถึงสตรีมีครรภ์ (ปีละ 5 ล้านคน) และเด็กทารก/เด็กเล็ก (ปีละ 2.6 ล้านคน) ซึ่งคนกลุ่มนี้ล้วนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และความเท่าเทียม ในการเข้าถึงตึกอาคาร สถานที่ ห้องสุขา รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ และบริการต่างๆ ดังนั้น ความร่วมมือกับ ทีเส็บในครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อการดึงงานการประชุม งานแสดงสินค้า และงานอีเวนต์ของกลุ่มคนทั้งมวลมายังประเทศไทยมากขึ้น หากสถานที่การจัดงานมีความพร้อมด้านมาตรฐานดังกล่าวตามแนวทางคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design Guide Book ซึ่งคู่มือนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้”

กิจกรรมภายในงาน MICE Standards Day 2023 ในปีนี้ องค์กรและหน่วยงานที่เข้ารับตราสัญลักษณ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ รวม 170 แห่ง ซึ่งเป็นทั้งการต่ออายุตราสัญลักษณ์และการมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานแก่ผู้ประกอบการใหม่ ผู้รับตรามาตรฐานดังกล่าวอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 จังหวัด การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความตระหนักในวงกว้างเกี่ยวกับความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อพัฒนาการของประเทศ ตลอดจนศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ดีในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นชาติ “ผู้นำไมซ์ของโลก” ได้ในที่สุดต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น