Breaking News

วิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า = วิ่งบนถนน จริงหรือ?


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ค่าฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นขาประจำที่มาพร้อมกับฤดูหนาวในทุก ๆ ปี ด้วยคุณภาพอากาศที่ไม่ดีส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพ วิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า แตกต่าง จากวิ่งบนถนนอย่างไร? เป็นคำถามที่ผู้เขียนได้รับจากทั้ง(คนไข้)นักวิ่งมือใหม่และมือเก่าอยู่เป็นประจำ โดยผู้เขียนขอแยกความแตกต่างของ 2 รูปแบบการวิ่ง เป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. การใช้พลังงาน (Energy cost) จากการศึกษาที่ผ่านมารายงานว่า ด้วยปัจจัยแรงลมและเนินสูงต่ำที่ไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้การวิ่งบนถนนมีแรงต้านที่มากกว่า ดังนั้นการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าจึงใช้พลังงานน้อยกว่า โดยวัดผลจากค่าอัตราการใช้ออกซิเจน(Oxygen consumption: VO2) และอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) โดยพบว่า การปรับความชันของการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าที่ระดับ 0-1% จะมีค่าเทียบเท่ากับการวิ่งบนถนน
2. แรงกระทำต่อข้อต่อ (Joint force) และการทำงานของกล้ามเนื้อ (Muscle function) จากการรายงานก่อนหน้านี้พบว่า มีแรงกระทำต่อข้อเท้าและเอ็นร้อยหวายที่มากกว่าของการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่บริเวณข้อเข่าของทั้งสองรูปแบบการวิ่ง นอกจากนี้การวิ่งบนถนนมีแนวโน้มที่จะมีการโน้มของกล้ามเนื้อลำตัวที่มากกว่า
3. ความยาวก้าว (Step length) การวิ่งบนพื้นถนนมีความยาวก้าวที่ยาวกว่า โดยมีความยาวที่แตกต่างกัน 6 เซนติเมตรต่อการวิ่ง 1 ก้าว นั่นหมายความว่ายิ่งระยะทางในการวิ่งยิ่งไกล ความแตกต่างของ 2 รูปแบบการวิ่งยิ่งมีค่าแตกต่างกันมากขึ้น

ถึงแม้ว่าการลงน้ำหนักและการทำงานของกล้ามเนื้อของการวิ่งทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย หากตัวคุณมีปัญหาบริเวณข้อเท้าหรือเอ็นร้อยหวายเดิมอยู่แล้ว การวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าอาจต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและข้อเท้ามากขึ้น รวมถึงในแง่การใช้พลังงานควรปรับความชันขึ้นเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความหนักในการวิ่งที่คล้ายคลึงกับการวิ่งบนถนน

สุดท้ายนี้ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การอบอุ่นร่างกายสร้างความพร้อมก่อนการออกกำลังกายและการยืดเหยียดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ยังคงเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติก่อนและหลังการวิ่ง รวมถึงการออกกำลังกายชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งการออกกำลังกายในร่มและกลางแจ้ง

เรียบเรียงโดย กภ. วรรณพงษ์ อิ่มธนบัตร


ไม่มีความคิดเห็น