Breaking News

วช. - สจล. ส่งความห่วงใยผ่านกิจกรรม“มังคุดวิจัย” แด่บุคลากรด่านหน้า พร้อมเชิญชวนอุดหนุนมังคุดชาวสวนชุมพร ผ่านระบบออนไลน์


วันที่ 27 สิงหาคม 2564
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ร่วมเปิดกิจกรรม มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อส่งต่อกำลังใจและความห่วงใย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 พร้อมชวนคนไทยอุดหนุนมังคุดชาวสวน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรงในขณะนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงวางเป้าหมายการวิจัยและพัฒนา ให้ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาประเทศที่ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจ วช. ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนเศรษฐกิจได้เดินหน้า ไปสู่ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีหลักคิด คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และ เปลี่ยนจากภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น


สำหรับกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยและนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่ามังคุดด้วยการวิจัยและพัฒนา “มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้บุคลากรด่านหน้า” เพื่อช่วยแก้ปัญหามังคุดล้นตลาด และราคาตกต่ำ ในการแปรรูป รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการวิจัย “นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวนโดย วช. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บูรณาการทำงานภาครัฐ และเอกชน และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมังคุดของจังหวัดชุมพร เพื่อเป็นต้นแบบของงานวิจัยเชิงพื้นที่โดยการสร้างอัตลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละพื้นที่ นำมาสร้าง Story เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมยกระดับขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกร และ วช. ขอร่วมส่งความห่วงใยไปยังบุคลากรด่านหน้าให้มีพลังแรงใจแรงกายปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้โรคโควิด 19


นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร
กล่าวว่า มังคุดซึ่งเป็นราชินีผลไม้ของไทย ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดชุมพร แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ส่งผลให้การตลาดในการจำหน่ายมังคุดประสบปัญหาราคาตกต่ำ และล้นตลาด ในขณะที่เกษตรกรสวนมังคุดในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ประสบปัญหา แต่เกษตรกรลุ่มน้ำหลังสวนกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากคณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมังคุด โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มังคุด 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เค้กมังคุดฝีพาย Synergy ผลิตภัณฑ์มังคุดคัดท้าย Selected ผลิตภัณฑ์เจลมังคุดต่อหวาย Connrct ผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN และผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้ร้อยเรื่องราว ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีการแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง อันเป็นกีฬาพื้นเมืองที่บรรพบุรุษชาวลุ่มน้ำหลังสวนได้รังสรรค์และสืบทอดกันมากว่า 200 ปี ภายใต้แบรนด์ "มังคุดชิงธง" ซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าผ่านเรื่องราวในบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผสมผสานอัตลักษณ์ของจังหวัดชุมพรได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมพรเป็นอย่างยิ่ง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมเพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้านักวิจัย
กล่าวว่า นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ในการทำวิจัยร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา โดยการนำมังคุดตกเกรดของลุ่มน้ำหลังสวน มาทำการแปรรูปเป็นมังคุดแช่เยือกแข็ง และนำเปลือกมังคุดมาสกัดจนเป็นผง เพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์มังคุดที่นำไปมอบให้บุคลากรด่านหน้า มี 2 ผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN และผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY ทาง วช. และ สจล.สนับสนุนในการผลิต โดย ผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY จำนวน 1,500 ซอง และผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN จำนวน 3,500 ขวด จะนำไปมอบให้บุคลากรด่านหน้าในเดือนกันยายนนี้


กิจกรรม มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้กับบุคลากรด้านหน้า มีการเสวนาในเรื่อง “แก้ปัญหามังคุดล้นตลาด ด้วยงานวิจัยและพัฒนา
” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมพร ปัจฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมเพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา และ นางสาวพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้ประสานงานชุดโครงการ Innovative house เป็นผู้ดำเนินการเสวานา นอกจากนี้ยังมีการ Live สดเปิดตลาดขายมังคุดออร์แกนิค และมังคุดตัดสด จากกลุ่มเกษตรกร ผ่าน Facebook Live สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประชาชนผู้สนใจสามารถสั่งชื้อมังคุดชาวสวนได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา จังหวัดชุมพร Line : @ChumphonOnlineMarket หรือ โทร 082-939-9228, 093-549-4141


ไม่มีความคิดเห็น