Breaking News

กพร. ผนึก UNIDO และพันธมิตร ดันผู้ประกอบการไทย ลดการปลดปล่อยสาร ‘U-POPs’ สำเร็จ! ยกระดับอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะวิถีใหม่ สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) เผยผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน (Green Scrap Metal Thailand) ด้วยการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ประยุกต์ใช้กระบวนการรีไซเคิลเศษโลหะอย่างเหมาะสมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดรับนโยบาย “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ของ อก.



วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567)
นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการปิดโครงการ “Greening the Scrap Metal Value Chain Through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities” โดยกล่าวว่า กพร. ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งทั่วโลกและประเทศไทยให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งการหมุนเวียนวัสดุใช้แล้วหรือเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เป็นทรัพยากรทดแทน (หรือ Secondary Raw Materials) ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการรีไซเคิลที่ใช้ไม่เหมาะสม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ หรือ U-POPs เช่น ไดออกซิน ฟิวแรน ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก จึงสามารถแพร่กระจายได้ไกล และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้ง่าย ทั้งทางระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางผิวหนัง โดยสะสมเนื้อเยื่อไขมันของสัตว์และมนุษย์ ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ภูมิคุ้มกัน และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้


กรมฯ จึงได้ร่วมกับ UNIDO ดำเนินโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน (Green Scrap Metal Thailand) โดยนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique: BAT) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice: BEP) ซึ่งเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ ลดการปลดปล่อยสารมลพิษ U-POPs เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย คิดเป็นเงินงบประมาณรวม 33.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,100 ล้านบาท ถือเป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน จากการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2561 และจะสิ้นสุดภายในปีนี้ รวมเป็นระยะเวลาเกือบ 6 ปี โครงการได้ประสบความสำเร็จและมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาร่างกรอบนโยบาย กฎหมาย และสิทธิประโยชน์ เพื่อการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งผ่านการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว การพัฒนาฐานข้อมูลห่วงโซ่อุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะของไทย การพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ ตลอดจนหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง กว่า 20 หลักสูตร โดยที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการอบรมแล้ว กว่า 3,000 ราย การนำ BAT/BEP ไปใช้จริงในโรงงาน พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการลงทุน อัตราส่วน 6:1 รวม 6 โรงงาน โดยสามารถลดการปลดปล่อย U-POPs ได้ปริมาณ 24.0 g WHO-TEQ ต่อปี ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายที่โครงการกำหนด และการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติประจำปี ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ U-POPs และเผยแพร่องค์ความรู้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมงาน กว่า 200 รายต่อครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และถึงแม้ว่าโครงการฯ จะดำเนินการแล้วเสร็จ แต่กรมฯ จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ให้เกิดผลอย่างเป็นธูปธรรม และขยายผลให้เกิดผลในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน 


สำหรับงานสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ภายในงานมีการมอบโล่เกียรติคุณให้แก่หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ แสดงเจตนารมณ์ถึงความร่วมมือที่จะยังดำเนินต่อไปจากแต่ละภาคส่วน โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืนและด้านสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายประเทศ มาร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำ BAT/BEP ไปใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานทั้ง On-site และ Online รวมกว่า 200 ราย ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาหรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.GreenScrapMetalThailand.com และ Facebook: โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน


ไม่มีความคิดเห็น