Breaking News

sacit เฟ้นหา 25 ช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ไทย เชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม


สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เผยความสำเร็จในการเฟ้นหาสุดยอดช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ พร้อมเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565 มุ่งสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริม งานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน


นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย
เปิดเผยว่า sacit เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ 


ด้วยความสำคัญดังกล่าวนี้ sacit จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา


สำหรับในปี 2565 นี้มีจำนวนผู้ที่เสนอชื่อเข้าร่วมการคัดสรรทั้ง 3 ประเภท จากทั่วประเทศในหลากหลายประเภทผลงานศิลปหัตถกรรม แต่ละคนล้วนแล้วมีผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น ในการพิจารณาคัดสรรนั้น sacit มีการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง และในแต่ละปีคณะกรรมการ จะทำงานกันอย่างหนักมาก เพื่อร่วมพิจารณาคัดสรรบุคคลผู้มีฝีมือ โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของบุคคลผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ


ในการนี้ sacit ได้ดำเนินการค้นหาผู้ที่มีทักษะเชิงช่างด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อนำมาเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งสิ้น 25 ราย เรียบร้อยแล้ว โดยให้ความสำคัญต่อหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติด้านการอนุรักษ์ , มิติด้านทักษะฝีมือ, มิติด้านเรื่องราวองค์ความรู้ , มิติด้านสังคม ในสาขางานศิลปหัตถกรรม 9 สาขา ได้แก่ 1. เครื่องไม้ 2. เครื่องจักสาน 3. เครื่องดิน 4. เครื่องทอ (เครื่องผ้า) 5. เครื่องรัก 6. เครื่องโลหะ 7. เครื่องหนัง 8. เครื่องกระดาษ 9. เครื่องหิน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย

นายสมคิด ด้วงเงิน ประภทงานเครื่องทองลงหิน
นายรัชพล เต๋จ๊ะยา ประเภทงานกระจกเกรียบโบราณ

โดยแบ่งเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" จำนวน 2 ราย คือ 1. นายสมคิด ด้วงเงิน ประภทงานเครื่องทองลงหิน 2. นายสุเทพ พรมเพ็ชร ประเภทงานเครื่องสังคโลก "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" จำนวน 13 ราย คือ 1. นางพนิดา สมบูรณ์ ประเภทงานเครื่องประดับลงยาราชาวดี 2.นางปิโยรส บัวเหลือง ประเภทงานปักสะดึงกรึงไหม 3. นายธวัชชัย ชูจิต ประเภทงานแกะสลักหนังตะลุง 4. นางอินศรี กรรณิกา ประเภทงานผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม 5. นายสุรัตน์ บัวหิรัญ ประเภทงานเครื่องปั้นดินเผา 6. นายพงษ์พันธุ์ ไชยนิล ประเภทงานเครื่องปั้นดินมอญ 7. รองศาสตราจารย์วาสนา สายมา ประเภทงานจักสานไม้ไผ่ 8. นายรัชพล เต๋จ๊ะยา ประเภทงานกระจกเกรียบโบราณ 9. นายเนติพงศ์ ไล่สาม ประเภทงานลูกปัดโนรา 10.นางกาญจนา สุวรรณมาลี ประเภทหัตถกรรมเครื่องเคลือบศิลาด 11.นางบัวหอม มูลคำ ประเภทเครื่องทอ ประเภทงานเครื่องนอนไทลื้อโบรา 12. นางสุมิตรา ทองเภ้า ประเภทงานผ้ายกร้อยเอ็ด 13. นางสาวจุฑาทิพ ไชยสุระ ประเภทงานผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ

นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ ประเภทงานเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ)

และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" จำนวน 10 ราย คือ 1. นางสาวรุจิรา แท่นมาก ประเภทงานผ้าทอนาหมื่นศรี 2.นางสาวจงกลณี สุวรรณพรรค ประเภทงานผ้าทอเกาะยอ 3. นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ ประเภทงานเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ) 4. นายเกียรติยุธ คมขำ ประเภทงานกริช 5. นายจิรเมธ จันทโชติ ประเภทงานจักสานไม้ไผ่ 6. นางภัศน์พร บัวคลี่ตระกูล ประเภทงานกลองแขกและตะโพน 7. นายสุวัฒน์ วรรณขันต์ ประเภทงานจ้องแดง 8. นายกุณฑฬ โสวาปี ประเภทงานแกะสลักหิน 9. นางสาวนฤมล ธิจิตตัง ประเภทงานเครื่องเคลือบเวียงกาหลง 10. นายนพดล ไทรวิมาน ประเภทงานเครื่องดนตรีไทย (ซอ) และเป็นที่น่ายินดีที่มีงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากหรือใกล้สูญหายและน่าสนใจ อาทิ เครื่องทองลงหิน, เครื่องสังคโลก, เครื่องประดับลงยาราชาวดี, งานปักสะดึงกรึงไหม, งานกระจกเกรียบโบราณ และเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ) เป็นต้น


ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุน ในกิจกรรมที่จัดโดย sacit เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประวัติและผลงานผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน และช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ , การได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์การสาธิตแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำงานหัตถกรรม , การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาตราสินค้า การขายออนไลน์ การพัฒนาด้านการตลาด เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป


สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ชื่นชอบและรักในงานศิลปหัตถกรรมไทยและอยากที่จะร่วมพูดคุยกับครูโดยตรง ซึ่งครูฯ-ทายาทฯ ทุกท่านจะมาสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8 – 11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค


ไม่มีความคิดเห็น