Breaking News

การผ่าตัดในยุค COVID-19


โดย นพ.ศิระ เลาหทัย 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

จากสถานการณ์บ้านเมืองที่นับวันผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกันโรคอื่น ๆ ก็ยังไม่ห่างหายไป ทางหน่วยงานของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงต้องรักษาโรคทั่วไปอยู่ รวมไปถึงการผ่าตัดในผู้ป่วยที่เร่งด่วน เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือโรคที่ต้องได้รับการผ่าตัดโรคอื่น ๆ


นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
กล่าวว่า การผ่าตัดแต่ละครั้งต้องใช้บุคลากรค่อนข้างมากตั้งแต่แพทย์ผ่าตัด แพทย์ผู้ช่วยผ่าตัด แพทย์ดมยา วิสัญญีพยาบาล พยาบาลห้องผ่าตัดและทีมงานอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมแต่ไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้นการคัดกรองนับเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคโควิด-19 ผู้ป่วยทุกรายควรต้องได้รับการผ่าตัดตรวจคัดกรองความเสี่ยงก่อนผ่าตัดทุกราย ถึงแม้จะไม่มีอาการใด ๆ หรือเข้าพื้นที่เสี่ยงก็ตาม เพื่อป้องกันทั้งบุคลากรและผู้ป่วยรอบข้างติดเชื้อ ผู้ป่วยทุกคนที่จะเข้ารับการผ่าตัดควรได้รับการคัดกรองความเสี่ยง โดยแนวปฏิบัติการทำหัตถการและการผ่าตัดในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แนะนำว่า

กลุ่มที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติมีไข้ หรือ วัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และ มีประวัติในช่วง 14 วันก่อนวันเริ่มมีอาการ โดยมีประวัติดังนี้

1.เดินทางไปมา หรือ อาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
2.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือ สารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยสงสัย หรือ ยืนยันโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองที่เหมาะสม
3.เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วย COVID-19
4.เป็นผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือ ติดต่อกับคนจำนวนมาก

ซึ่งผู้ป่วยทุกคนควรต้องตรวจคัดกรองโดยทำ nasopharyngeal และ throat swab โดยวิธี rRT-PCR ถ้าผู้ป่วยได้รับวินิจฉัยว่าพบเชื้อ แนะนำให้เลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อน จนกว่าจะหายอย่างน้อย 1 เดือนนับจากวันที่ตรวจโดยทางแนวทางการรักษาสามารถได้แบ่งเป็นกลุ่มผ่าตัดที่รีบด่วนกับกลุ่มผ่าตัดแบบไม่รีบด่วน

กลุ่มผ่าตัดแบบไม่รีบด่วน แบ่งเป็นกลุ่มที่มีประวัติความเสี่ยง และ ไม่มีประวัติความเสี่ยง

1.กลุ่มที่มีประวัติความเสี่ยง ถ้าไม่มีอาการ และ ความผิดปกติ แนะนำให้เลื่อน และ รอดูอาการที่บ้านจนครบอย่างน้อย 1 เดือน แล้วประเมินเพื่อทำการผ่าตัดใหม่
2.กลุ่มที่มีประวัติความเสี่ยง แต่มีอาการหรือ มีความผิดปกติ ( อาการ หมายถึง ไข้หรือประวัติไข้ หรือมีอาการไอ น้ำมูกเจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจเร็ว ได้กลิ่นลดลงหรือรับรสผิดปกติ โดยไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุอื่น ส่วนความผิดปกติหมายถึง ตรวจร่างกายพบติดเชื้อในทางเดินของระบบหายใจ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 95% หรือ ภาพรังสีวิทยาปอดเข้าได้กับปอดอักเสบ) แนะนำให้ไปปรึกษาทีมแพทย์
3.กลุ่มที่ไม่มีประวัติความเสี่ยงและไม่มีอาการและความผิดปกติ ต้องได้รับการตรวจโดยการทำ COVID-19 PCR ถ้าตรวจไม่พบสามารถผ่าตัดได้การปกติ
4.กลุ่มที่ไม่มีประวัติความเสี่ยง แต่มีอาการ หรือ ความผิดปกติ แนะนำให้เลื่อนผ่าตัด 2 สัปดาห์หลังจากหายป่วยกรณี มีอาการสงสัยติดเชื้อจากทางเดินหายใจส่วนบนและแนะนำให้เลื่อนผ่าตัด 4 สัปดาห์ในผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อจากทางเดินหายใจส่วนล่าง

กลุ่มผ่าตัดแบบรีบด่วน แบ่งเป็นกลุ่มที่มีประวัติความเสี่ยงและไม่มีประวัติความเสี่ยง ถ้ารอผลได้ให้รอผลก่อน ถ้ารอไม่ได้ให้ผ่าตัดในห้องที่ใช้ผ่าตัดเฉพาะ COVID-19 และทั้งหน่วยงานต้องใส่ชุดป้องกันอย่างครบครันอย่างไรก็ตามการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดแต่ละครั้งต้องปรึกษาหลายทีมทั้งทีมผ่าตัด ทีมวิสัญญีและ หน่วยงานต่างๆ เพื่อเข้ามาดูแลและป้องกันให้บุคลากรและบุคคลรอบข้างได้รับความเสี่ยงจากโรคนี้น้อยที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดในยุคนี้ ควรต้องระมัดระวัง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไปสถานที่เสี่ยง และเวลาออกจากบ้านรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ติดจากโรคนี้


ไม่มีความคิดเห็น