มช. ชูโครงการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “คิดถึงเชียงใหม่”
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่เมืองที่ได้ชื่อว่าติดอันดับน่าท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก กลับเจอวิกฤตอย่างหนัก นักท่องเที่ยวลดลงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ธุรกิจร้านค้าพากันปิดตัว รวมถึงเศรษฐกิจฐานรากไม่สามารถเติบโตได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะองค์กรที่พัฒนาองค์ความรู้ด้านล้านนาและการสร้างนวัตกรรมร่วมสมัยเพื่อเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ นำแนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “คิดถึงเชียงใหม่” เสนอต่อ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงาน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอแนวทางนโยบายแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ในโครงการ Gastronomy tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยหยิบยกความอร่อยของอาหารในท้องที่ต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงร่วมกับการท่องเที่ยว โดยมุ่งพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ ด้าน “Molecular Agriculture” เป็นการส่งเสริมรูปแบบการปลูกและจัดการวัตถุดิบท้องถิ่นแบบแม่นยำ มีการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรเชิงอาหาร และมีวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยด้วยการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการสืบย้อนหลัง ด้าน “Gastronomy Food Coding” เป็นการพัฒนาอาหารล้านนาด้วยวิทยาศาสตร์ การถอดรหัสนวัตกรรมอาหารล้านนา และการยกระดับ และด้านสุดท้ายคือ “Chiang Mai Food Destination” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยโครงการ Gastronomy tourism เกิดจากการระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ต้องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19 โดยนำเสนอของบประมาณจากรัฐผ่านจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50,000,000 บาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี และคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วจะทำให้สร้างรายได้ให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้น รวม 500 ล้านบาท เป็นการสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 จำนวน 50,000 คน
แผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะพลิกเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้กลับมาเติบโต มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้อีกครั้ง สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาล้านนาสู่ความร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน รวมถึงช่วยสานต่อความเป็นล้านนาสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น