Breaking News

วช.ร่วมมหาวิทยาลัยนครพนม ยกระดับศักยภาพชุมชนและสร้างชุมชนต้นแบบในจังหวัดนครพนมด้วยวิจัยและนวัตกรรม


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพื้น ในการนี้ วช.ได้ให้การสนับสนุนทุนเพื่อจัดการความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยนครพนมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559-2562 เพื่อดำเนินสร้างชุมชนต้นแบบที่พัฒนาศักยภาพด้วยวิจัยและนวัตกรรม ใน 3 รูปแบบ คือ
1.ธนาคารขยะชุมชน
2.Smart Farmer การผลิตไก่งวง
3.เมืองไบโอชาร์



ในวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 วช.ได้ติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการขยายผลองค์ความรู้การวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนต้นแบบในจังหวัดนครพนม ได้แก่


1)กลุ่มชุมชนนาราชควายโมเดล ในการเป็นต้นแบบ ธนาคารขยะชุมชน โดยมี อาจารย์พัชญทัฬห์ กิณเรศ เป็นหัวหน้าโครงการ ผลจากการนำวิจัยและนวัตกรรมไปดำเนินการในพื้นที่ พบว่า มีชุมชนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากกว่า 10 ชุมชน และชุมชนมีเงินหมุนเวียนจากธนาคารขยะจำนวนหลายล้านบาท


2)กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม ในการเป็นต้นแบบ Smart Farmer การผลิตไก่งวง โดยมี อาจารย์ธนพัฒน์ สุระนรากุล เป็นหัวหน้าโครงการ ผลจากการนำวิจัยนวัตกรรมไปพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้กากมันสำปะหลังหมักยีสต์ ในการเป็นอาหารสัตว์ สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มากกว่า 70% มีการขยายเทคนิคดังกล่าวไปยังกลุ่มวิสาหกิจเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงในจังหวัดนครพนมหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น


3)กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ผสมผสานท่าค้อ ในการเป็นต้นแบบชุมชนไบโอซาร์ โดยมี ผศ.ดร.เสาวคนธ์ เหมวงษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้พัฒนาเตาไบโอชาร์และเทคนิคการผลิตถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นถ่านไบโอชาร์ เพื่อใช้ในการทำการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งทางจังหวัดนครพนมเตรียมใช้ต้นแบบชุมชนจากโครงการ ขยายผลจังหวัดนครพนมเป็นเมืองไบโอชาร์

ทั้งนี้ การสนับสนุนทุนวิจัยของวช.เพื่อยกระดับศักยภาพชุมชนต้นแบบด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยการดำเนินการของมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินการ อันประกอบด้วย ภาคจังหวัด องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เกษตรกรต้นแบบ และแกนนำชุมชน เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น