Breaking News

วธ. จัดพิธีทางศาสนามหามงคล โชว์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่า 5 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” 17-20 ส.ค. 66


นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.)
เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาร่วมกับองค์การทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัด “พิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ในวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรวมพลังทางศาสนาเสริมสร้างความสมานฉันท์ ร่วมกันบำเพ็ญความดีถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ โดยมีผู้นำองค์การศาสนาทั้ง 5 ศาสนา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พร้อมทั้งคณะกรรมการศาสนิกสัมพันธ์ส่วนกลาง และจังหวัดในพื้นที่เป้าหมายใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร เครือข่ายศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา เครือข่ายพระธรรมวิทยากร ชุมชนคุณธรรม และศาสนิกชนทุกศาสนา ร่วมประกอบพิธี โดยศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบพิธีสวดมนต์หรือท่องพระเวท และศาสนาซิกข์ ประกอบพิธีสวดกีรตันและอัรดาส


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวต่อว่า
การจัดงานครั้งนี้ยังได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2566 เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในด้านพระศาสนา และเพื่อให้ประชาชนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรด้วยน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพระศาสนา พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนา ได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมงานศาสนาและคุณธรรมของปวงชนชาวไทยตลอดมา


นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคล 5 ศาสนา ที่ทรงคุณค่าและเป็นที่เคารพศรัทธา มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา พร้อมนำศาสนวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามาจัดแสดงในนิทรรศการฯ ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุของส่วนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ศาสนาอิสลาม พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และความหมายภาษาไทยฉบับพระราชทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสในงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ศาสนาคริสต์ อัญเชิญเครื่องประกอบพิธีมหาสนิท ประกอบด้วย ไม้กางเขน 2 นิกาย โป๊ะเทียน 1 คู่ พระคัมภีร์ 1 เล่ม หนังสือเพลง 3 เล่ม และชุดมหาสนิท 1 ชุด แสดงถึงการไถ่บาปของมวลมนุษย์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เครื่องประกอบพิธีสำคัญ ประกอบด้วย สัญลักษณ์โอม สังข์ กระดิ่ง ระฆัง ที่จุดประทีป และดอกบัว สัญลักษณ์โอม เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าสูงสุดทางศาสนา ศาสนาซิกข์ สัญลักษณ์สำคัญของศาสนิกชนชาวซิกข์ห้า ก (เกศา กังฆะ กาซ่า กิรปาน การ่า) มาลา (ลูกประคำถักจากด้ายไหมพรมสีขาว) ฆะราวะ (รองเท้าทำจากไม้)

จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยตลอดจนศาสนิกชนของทั้ง 5 ศาสนาเข้าร่วมในพิธีมหามงคล 5 ศาสนา และขอเชิญชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อรวมพลังในการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และเป็นการรวมพลังความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกที่ล้วนมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ รายละเอียดเพิ่มเติม สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และเว็บไซต์กรมการศาสนา www.dra.go.th


ศาสนวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา
ร่วมจัดนิทรรศการในงาน “มหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม

ศาสนาพุทธ


พระบรมสารีริกธาตุ
คือ พระอัฐิของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ได้ทรงอธิษฐานไว้ก่อนปรินิพพานให้คงเหลือไว้หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน
ซึ่งชาวพุทธเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นวัตถุแทนองค์พระบรมศาสดาที่ทรงคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา จึงนิยมกระทำการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุโดยประการต่าง ๆ เช่น การสร้างเจดีย์
เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้สักการะ โดยเชื่อว่ามีอานิสงส์ประดุจได้กระทำการบูชาแด่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ ในการจัดงานในครั้งนี้ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็น
พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาเพื่อความ
เป็นสิริมงคล โดยมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคี ได้จัดโครงการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกา มาประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร และกรมการศาสนา ได้รับมอบจากสมเด็จพระวันรัต อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันพุธที่ 29 เมษายน 2563 ให้นำไปประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการะในโอกาสต่างๆ


ศาสนาอิสลาม


คัมภีร์อัลกุรอานฉบับพระราชทาน
คือ หนังสือหรือคัมภีร์ซึ่งเป็นบัญญัติของพระเจ้าเพื่อเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต มีความศักดิ์สิทธิและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ต้นฉบับคัมภีร์อัลกุรอานเป็น ภาษาอาหรับ จึงมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งประเทศไทยพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและความหมายภาษาไทยฉบับพระราชทานเล่มแรก โดย อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชกระแสว่า “อยากจะให้แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย ให้ปรากฏขึ้นเป็นสง่าราศีแก่ประเทศชาติให้ทัดเทียมกับหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเขาเคยจัดการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาประจำชาติกันมาแล้ว” โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2511 เป็นวันแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทยได้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นถวาย และได้พระราชทานแก่มัสยิดทั่วประเทศ ซึ่งในงานได้นำพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และความหมายภาษาไทยฉบับพระราชทานมาแสดงให้ชาวไทยได้ซาบซึ้งในอรรถรสของคัมภีร์ และสร้างความเข้าใจอันดีต่อศาสนิกชนต่างศาสนา เกี่ยวกับอิสลามและชาวไทยมุสลิมอีกด้วย


ศาสนาคริสต์


คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่าศาสนาเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “พระเจ้า” กับ “มนุษย์” หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงก็คือ พระเจ้าเที่ยงแท้มีธรรมชาติหนึ่งเดียวแต่แบ่งออกเป็นสามพระบุคคลคือ พระบิดา พระบุตร และ
พระจิต โดยเรียกรวมว่าพระตรีเอกภาพ

สำหรับในการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ กรมการศาสนาได้นำศาสนภันฑ์ในการประกอบพิธีเป็นประจำในโบสถ์เซนต์โทมัส (คาทอลิก) และโบสถ์สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้ประกอบพิธีมายาวนานหลายทศวรรษ จึงถือว่าเป็นศาสนภัณฑ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่า และคริสต์ศาสนิกชนมีความรักและห่วงแหน ประกอบด้วย
  • กางเขน ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการไถ่บาป เป็นการแสดงความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อมนุษยชาติ
  • เทียน เป็นแสงสว่าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำความดีที่จุดส่องแสงให้กับผู้อื่น
  • พระคัมภีร์ (ไบเบิ้ล) มีกำเนิดจากการเขียนขึ้นของมนุษย์โดยการดลใจจากพระเจ้า คริสตชนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระเจ้า
  • หนังสือเพลง เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมทางศาสนามีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความศรัทธาและยกจิตใจขึ้นหาพระผ่านทางการขับร้องของคริสตชน
  • ชุดมหาสนิท เป็นชุดภาชนะ สำหรับจัดวางเครื่องประกอบพิธีมหาสนิท ประกอบด้วย ถาดใส่น้ำองุ่นถ้วยศีล ถาดขนมปัง

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


กรมการศาสนา ได้นำศาสนภัณฑ์ที่สำคัญและโดดเด่นที่ใช้ในพิธีฮารตีสำหรับงานมงคลต่าง ๆ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาจัดแสดงโดยเป็นศาสนภัณฑ์จากวัดเทพมณเฑียร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 เพื่อเป็นเทวสถานของพระวิษณุและเทพเจ้าในศาสนาฮินดู รวมถึงเป็นแหล่งรวมใจชาวฮินดูให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนี้มีการอัญเชิญเทวปฏิมาของพระผู้เป็นเจ้าและเทพยดา อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวฮินดูมาจากประเทศอินเดีย (พร้อมกับแผ่นหินอ่อนแกะสลักทั้งหมด) และอัญเชิญดินศักดิ์สิทธิ์จากพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ ลุมพินี (สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า) พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) สารนาถ (สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า) และกุสินารา (สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) มาไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลพร้อมกันนี้ได้อัญเชิญน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในอินเดีย เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสุรัสวดี ฯลฯ มารวมกันและนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดเทพมณเฑียรแห่งนี้

ศาสนาฮินดู ศาสนวัตถุส่วนใหญ่เป็นรูปเคารพและสัญลักษณ์แทนเทพโดยผู้เคารพบูชาจะขอให้เทพประทานพรด้วยเครื่องบูชาและแสดงความเคารพ ประกอบด้วย
  • โอม เป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โอม ประกอบขึ้นจากอักษร 3 ตัว คือ A อ แทน พระวิษณุ U อุ แทนพระศิวะ และ M ม แทนพระพรหม เป็นสัญลักษณ์แทนเทพทั้งสามเมื่อรวมเป็นรูปเดียวกันเรียกว่า ตรีมูรติ
  • สังข์ ตามคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การเป่าสังข์จะทำลายพลังงานด้านลบ และทำให้พระแม่ลักษมีทรงประทานพร
  • กระดิ่งหรือระฆัง เชื่อว่าเป็นเสียงมงคล ในขณะทำอารตีหรือบูชาเทพฮินดู พราหมณ์จะสั่นกระดิ่งเพื่อบอกให้เทพได้รับรู้ถึงการมาเยี่ยมของเรา และยังเชื่อว่าสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
  • จุดประทีป การจุดประทีปนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ปกป้องความมืดมัว หรือสัญลักษณ์ว่าด้วยชัยชนะของความสว่างเหนือความมืดมัวในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่
  • ดอกบัว เป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือกันว่าบัวเป็นพืชชนิดแรกที่เกิดมาบนโลก และเป็นดอกไม้ของผู้มีบุญ (มีตำนานเล่าไว้ว่าดอกบัวได้ผุดออกมาจากหน้าผากของพระนารายณ์)

ศาสนาซิกข์


ศาสนาซิกข์ เกิดขึ้นราว 500 กว่าปีที่ผ่านมา โดยมีพระศาสดาคุรุนานักเทพ เป็นองค์ปฐมบรมศาสดา และพระศาสดาองค์ที่สิบ คุรุโคบินต์ซิงห์ เป็นผู้สถาปนาคาลซา หรือซิกข์ที่สมบูรณ์แบบด้วยสัญลักษณ์ 5ก
ให้แก่ชาวซิกข์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ศาสนิกชนชาวซิกข์จึงต้องมี 5ก ติดตัวไว้เสมอเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่ศาสนิกชนชาวชิกข์ในประเทศไทยยังคงมีสัญลักษณ์ 5ก ติดตัวเสมอแต่อาจปรับไปตามสภาพสังคมปัจจุบัน เช่น กิรปาน หมายถึงดาบสั้น ถือเป็นอาวุธในการพกติดตัวก็ผิดกฎหมาย จึงปรับเปลี่ยนเป็น กริชเล็กๆ แทน แต่ในสังคมของอินเดียบางพื้นที่ ยังคงพกกิรปานหรือดาบสั้นตามศาสนบัญญัติเสมอ ซึ่งสัญลักษณ์ 5 ล้วนมีความหมายและมีความเป็นมา ดังนี้
  • ก ที่หนึ่ง เกศา คือผม ชาวซิกข์จะไม่ปลงผมจากส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เนื่องจากผมเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้ตามหลักแห่งธรรมชาติซึ่งเป็นสัจธรรมอันยิ่งใหญ่
  • ก ที่สอง กังฆะ คือหวีไม้ ชาวซิกข์จะใช้หวีสางผม เพื่อให้เกศาดูเรียบร้อยและงดงาม
  • ก ที่สาม กาซ่า คือกางเกงในขาสั้น เพื่อความสันทัดและความกระฉับกระเฉง โดยไม่ประเจิดประเจ้อยามทำงาน ยามออกศึก และยามสงบ
  • ก ที่สี่ กิรปาน คือดาบสั้น ทำด้วยเหล็กกล้า เพื่อปกป้องผู้ที่ถูกรังแก ถูกลิดรอนสิทธิมนุษย์ และเพื่อปกป้องตนเอง โดยไม่ใช้เป็นอาวุธในการรุกรานผู้อื่นโดยเด็ดขาด
  • ก ที่ห้า การ่า คือกำไลเหล็กกล้า เป็นสัญลักษณ์แห่งความอดทน และเข้มแข็งดุจเหล็กกล้า เป็นเครื่องเตือนสติ และเตือนใจให้ละเว้นจากการกระทำบาป ให้ตั้งสติอยู่ในความชอบธรรม
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเครื่องประกอบพิธีสำหรับสวดมนต์ คือ มาลา (ลูกประคำถักจากด้ายไหมพรมสีขาว) มีจำนวน 108 เม็ด และ ฆะราวะ (รองเท้าทำจากไม้) ใช้ในการประกอบพิธีที่สำคัญ ซึ่งผู้สวมใส่ต้องถือศีลบริสุทธิและต้องชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ด้วยการอาบน้ำฝน


ไม่มีความคิดเห็น