Breaking News

ส่องผลงานสุดเจ๋งฝีมือคนไทย! ปลุกเมืองให้คึกคักด้วยงานดีไซน์ เฟสติวัล โชว์เคสผลงานผู้ชนะการประกวดแบบสุดยิ่งใหญ่แห่งปี "MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention"

คนรุ่นใหม่โชว์งานออกแบบพื้นที่เฟสติวัลสาธารณะที่ครบทั้งฟังก์ชันและดีไซน์สุดทึ่ง
คว้ารางวัลศึกษาดูงานต่างประเทศ-เงินรางวัลรวมกว่า 2 ล้านบาท


MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดงานมอบรางวัลแก่ทีมผู้ชนะจากเวทีประกวดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะ MQDC Design Competition 2023 ในหัวข้อ “RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” การประกวดแนวคิดการออกแบบพื้นที่กิจกรรมและเทศกาล ในพื้นที่สาธารณะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนและเมือง
ที่เฟ้นหาสุดยอดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองและพื้นที่กึ่งสาธารณะสำหรับเมืองยุคใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมืองแห่งงานเทศกาล พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเมือง กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยทีมนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่ผลงานออกแบบเอาชนะใจเหล่าคณะกรรมการที่คร่ำหวอดในวงการดีไซน์และออกแบบเมืองนั้น แบ่งออกเป็นทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศ 2 อันดับ และรางวัลชมเชย โดยทีมนักศึกษาที่ได้รางวัลชนะเลิศ (Gold) ได้แก่ ทีม A222 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับผลงาน “ลานละคร” และทีมบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม B124 กับผลงาน “อ้อ-มา-กา-เสะ” ซึ่งนอกจากจะคว้าเงินสนับสนุนทีมละ 200,000 บาทแล้ว และทั้ง 2 ทีมยังเตรียมบินลัดฟ้าไปดูงานออกแบบพื้นที่สาธารณะอีกด้วย


นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
กล่าวว่า “งาน MQDC Design Competition 2023 ในปีนี้ เราจัดขึ้นในหัวข้อ “RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จอันล้นหลามจากการประกวดเมื่อปีที่แล้ว โดยเวทีประกวดผลงานในปีนี้ได้สร้างสถิติใหม่ในฐานะโครงการประกวดแบบที่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยผู้สมัครที่มากถึง 1,222 คน MQDC ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันศักยภาพของนักออกแบบรุ่นใหม่ ขอแสดงความยินดีแก่ทีมผู้ชนะทุกทีมที่ได้แสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงงานออกแบบพื้นที่ซึ่งสามารถตอบโจทย์การใช้งานจริงได้ในทุกแง่มุม และสร้างสรรค์ออกมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับเมืองให้น่าอยู่มากขึ้นสำหรับทุกคน สอดคล้องกับแนวคิด ‘For All Well-Being’ ของ MQDC ที่มุ่งมั่นสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้แก่ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ จุดเด่นของการประกวดแบบครั้งนี้ คือการออกแบบที่อิงสเกลของพื้นที่ต้นแบบที่มีอยู่จริง ทั้งในย่านสุขุมวิทใต้ กรุงเทพฯ และสถานที่สำคัญในจังหวัดอื่น ๆ เราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีการนำแบบจากเวทีนี้มาใช้สร้างพื้นที่จริงในอนาคต เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย MQDC และ CDAST พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการเพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ได้ร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”


ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST)
“CDAST ยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จของโครงการออกแบบดี ๆ เช่นนี้ รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นแนวคิดที่คนรุ่นใหม่มีต่อพื้นที่สาธารณะสร้างสรรค์ ซึ่งสะท้อนผ่านงานออกแบบอันน่าทึ่งของทุก ๆ ทีม โจทย์ที่เราให้ไปถือว่าท้าทายมาก ๆ เพราะนอกจากจะต้องออกแบบพื้นที่ซึ่งสวยงามน่าเดิน เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวแล้ว ยังต้องดึงจุดเด่นของย่านนั้น ๆ และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ ผ่านเทศกาลที่จะจัดขึ้นในพื้นที่อีกด้วย โดยงานออกแบบที่ดีจะต้องตอบโจทย์ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุนทรียศาสตร์ ฟังก์ชันการใช้งาน และบริบทของเมือง เราจึงดีใจที่ทีมผู้ชนะสามารถตีโจทย์ได้แตก และสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ที่เปี่ยมด้วยฟังก์ชันเพื่อสังคม เรามั่นใจว่าผลงานที่ชนะรางวัลได้โชว์ให้เห็นถึงศักยภาพในการนำไปปรับใช้กับพื้นที่จริงเพื่อกลายเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคต”


รางวัลการประกวดแบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ ประเภทนิสิตนักศึกษาและประเภทบุคคลทั่วไป ประเภทละ 3 รางวัล (Gold, Silver และ Bronze) รางวัลชมเชยประเภทละ 3 รางวัล และรางวัล Popular Vote 1 รางวัล โดยแต่ละทีมจะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล และผู้ชนะเลิศระดับ Gold จะได้รางวัลเดินทางดูงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะในต่างประเทศ

รางวัล Gold ประเภทนักศึกษา: ทีม A222 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงาน: ลานละคร



นายชยพล สิทธิกรวรกุล ตัวแทนจากทีม A222 เล่าถึงคอนเซ็ปต์ของ “ลานละคร” ว่า “เราตั้งใจสร้างให้ลานละครเป็นพื้นที่การแสดงแบบไร้ขอบเขตที่ทุกคนมาแสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เช่น คอมเมดี้โชว์ เล่นละคร โชว์การแสดงศิลปะพื้นบ้าน โชว์เต้น ร้องเพลง เป็นต้น นอกจากนี้ ลานแห่งนี้ยังเปิดพื้นที่ให้มีร้านค้ามาเช่าพื้นที่ขายของเพื่ออุดหนุนธุรกิจชุมชุน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

รางวัล Silver ประเภทนักศึกษา: ทีม A265 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงาน: อัสดงร่วมกัน



นายตะวัน ตันธนะสาร ตัวแทนจากทีม A265 บอกเล่าถึงเทศกาลอัสดงร่วมกันว่า “เราอยากใช้ Cloud 11 เป็นพื้นที่ในการมองดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าและกิจกรรมอื่น ๆ ของคนในพื้นที่ ผลงานนี้เกิดจากไอเดียที่ว่าการชมพระอาทิตย์ตกในกรุงเทพฯ นั้นเป็นไปได้ยากมาก ด้วยความเป็นพื้นที่หนาแน่นที่เต็มไปด้วยตึกสูง เราเลยอยากสร้างพื้นที่ผ่อนคลาย เชิญชวนผู้คนมาร่วมมองความงามของอาทิตย์อัสดง ดูเหมือนเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่เราว่ามันคือความธรรมดาที่แสนพิเศษ

รางวัล Bronze ประเภทนักศึกษา: ทีม A112 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงาน: ไทย-มู(ง)


นายวีรวัฒน์ อันทะเกต ตัวแทนทีม A112 กับผลงาน “ไทย-มู(ง) THAI-MU(NG)” กล่าวว่า “เรานำเสนอการใช้พื้นที่ ณ ลานหน้าวัดธรรมมงคล มาจัด ‘ไทย-มู(ง)’ เทศกาลแห่งความเชื่อเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดของผู้คนที่มีความหลากหลายความเชื่อ และตีแผ่ให้เข้าใจถึงอีกแง่มุมของความเชื่อที่เหนือกว่าความงมงาย เราเลือกลานหน้าวัดธรรมมงคล เพราะเป็นศาสนสถานที่ห้อมล้อมด้วยชุมชน บริบทความเป็นมิตร และความเงียบสงบที่แยกตัวออกจากความวุ่นวายของท้องถนน ซึ่งเหมาะแก่การเป็นแลนด์มาร์กใหม่มาก ๆ”

รางวัล Gold ประเภทบุคคลทั่วไป: ทีม B124
ผลงาน: อ้อ-มา-กา-เสะ



นายศักดิธัช พิทักษ์กชกร ตัวแทนจากทีม B124 กล่าวถึงผลงาน อ้อ-มา-กา-เสะ ที่สื่อถึงเทศกาลการชิมของอร่อยประจำย่านพระโขนง “เรารู้สึกว่าย่านพระโขนงมีของดีเยอะ แต่ติดอยู่ที่ตรอกซอยค่อนข้างซอกแซก ก็เลยอยากให้ชุมชนกลับมาคึกคักด้วยเทศกาลอ้อ-มา-กา-เสะ หวังว่าพื้นที่ที่เราออกแบบจะเปิดโอกาสให้ร้านอาหารเล็ก ๆ และธุรกิจขนาดย่อมในชุมชนที่ไม่ได้มีสาขาอยู่ในห้างใหญ่ ได้มีพื้นที่และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในย่าน ให้ร้านเล็กร้านน้อยอยู่ต่อไปได้ อาจจะทำการตลาดด้วยการชวน Influencer มาสร้างคอนเทนต์เพื่อเรียกคนให้มาเที่ยวและสร้างความคึกคักให้ชุมชนแห่งนี้”

รางวัล Silver ประเภทบุคคลทั่วไป: ทีม B152
ผลงาน: รัก ล่อง หน



นายวิภพ มโนปัญจสิริ ตัวแทนจากทีม B152 อธิบายคอนเซ็ปต์ผลงาน “รัก ล่อง หน” ว่า “เราออกแบบผลงานโดยอาศัยการใช้พื้นที่รอบ ๆ วัดธรรมมงคล จัดงาน “รัก ล่อง หน” เทศกาลสัมผัสรักที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ผ่านแนวคิด ‘ง่าย ๆ สบาย ๆ ไทย ๆ’ ให้เกิดเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนและความเชื่อ ผ่านพื้นที่ว่างที่แทรกตัวตามธรรมชาติของที่ตั้ง โดยเราเสนอให้เอกชนเป็นผู้พัฒนาร่วมกับวัดเพื่อสร้างรายได้กลับไปแก่ชุมชน”

รางวัล Bronze ประเภทบุคคลทั่วไป: ทีม B106
ผลงาน: Lamphun Art and Craft Festival



นางสาวอัญมณี มาตยาบุญ ตัวแทนทีมจากภาคเหนือร่วมแสดงไอเดียในการสร้างแลนด์มาร์กใหม่แห่งลำพูนผ่านผลงาน Lamphun Art and Craft Festival “ลำพูนเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ จุดเด่นของลำพูนคือการมีผู้คนที่มีทักษะช่าง (Artisan) โดดเด่นมาก จริงๆแล้วจังหวัดนี้เป็นที่อยู่ของศิลปินมากมาย เราเลยออกแบบ 3 พื้นที่ในเขตคูเมืองลำพูนให้รองรับการจัดเทศกาล โดยใช้หลักการออกแบบ Creative Economy และ Creative Space เพื่อดึงศักยภาพในการดึงดูดผู้คนให้มาร่วมชมเทศกาลศิลปะได้อย่างสะดวกสบาย”


ผลงานการออกแบบที่ได้รับรางวัลได้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจต่อชุมชนและความตั้งใจจริงของนักออกแบบรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทย เพื่อปลุกเมืองให้คึกคักและนำรายได้สู่ชุมชน
ไอเดียที่น่าสนใจไม่ได้เพียงเท่านี้ สามารถติดตามชมผลงานการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ “City Festival” ทั้งหมดและติดตามอัปเดตล่าสุดของโครงการได้ที่ Facebook: MQDC Design Competition 2023

#MQDCDesignCompetition2023 #cityfestival #DesignIntervention

ไม่มีความคิดเห็น