Breaking News

ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย เตือนสาวไทย เลิกใช้เครื่องสำอางปลอม!

เดินหน้าแคมเปญ #YourHealthIsPriceless เฟสสองสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคถึงอันตรายของเครื่องสำอางปลอมต่อผิวหน้า ผิวกาย และสุขภาพโดยรวม


เพราะความสวยรอไม่ได้..แม้ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่สินค้าฟุ่มเฟือยกลับยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะใครๆ ก็อยากดูดี มีสไตล์ หรือชอบที่จะรักสวยรักงาม แม้เงินในกระเป๋าจะมีอยู่อย่างจำกัดจนต้องเลือกซื้อสินค้าราคาถูก หรือ ‘ของก็อป’ ยิ่งในยุคที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกพื้นที่ การค้าขายผ่านตลาดออนไลน์ก็ยิ่งคึกคักส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สะดวกและง่ายแค่ปลายนิ้ว โดยไม่ทันได้คิดถึงผลเสียที่จะตามมา ทั้งได้ของที่ไม่มีคุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ แถมยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่รู้ตัว

ในวันนี้ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key South-East Asia) โครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เปิดตัวแคมเปญ #YourHealthIsPriceless เฟส 2 เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องถึงอันตรายจากการใช้ยาและสินค้าเพื่อสุขภาพปลอม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม เช่น เครื่องสำอาง สกินแคร์ และผลิตภัณฑ์ฉีดผิวหน้า เป็นต้น สินค้าปลอมเหล่านี้นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภคและสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และเนื่องจากสินค้าปลอมสามารถขนส่งและจำหน่ายได้อย่างง่ายดาย ผู้บริโภคจึงต้องตระหนักถึงอันตราย พิจารณาโปรโมชั่นของร้านค้าออนไลน์อย่างระมัดระวัง และเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งจำหน่ายที่ถูกกฎหมายเท่านั้น

“แคมเปญของไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย มุ่งสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนถึงปัญหาและความสำคัญของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการปกป้องเครื่องหมายการค้า เพราะเครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องผู้บริโภคจากความสับสน การหลอกลวง และข้อมูลที่ผิดพลาด ช่วยให้พวกเขาสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์แท้กับผลิตภัณฑ์ปลอม และการันตีถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การปกป้องเครื่องหมายการค้าที่มีประสิทธิภาพยังช่วยป้องกันผู้บริโภคจากสารเคมีอันตรายและสร้างสวัสดิภาพในการใช้ชีวิต” นายติอาโก เกียเรอิโร หัวหน้าโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว

“การดำเนินงานเฟสแรกเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนำเสนอข้อมูลอันตรายของยาปลอมและเรียกร้องให้ร่วมกันต่อต้านการจำหน่าย การซื้อ และการบริโภคยาปลอม ในขณะนี้หน่วยงานท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดำเนินการเพื่อป้องกันการค้าผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม และปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ก่อให้เกิดปัญหากับใบหน้า ผิวพรรณ และความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม ผ่านโครงการไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย โดยสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ทั่วทั้งภูมิภาค” เขากล่าวเสริม

ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพย์สินของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้เปิดเผยว่าเครื่องสำอางและน้ำหอมปลอมถูกขนส่งไปยังผู้บริโภคด้วยพัสดุขนาดเล็กทางไปรษณีย์ (51%) โดยมีวิธีการขนส่งสินค้าปลอมอื่น ๆ ได้แก่ การขนส่งทางถนน (28%) ทางทะเล (15%) และทางอากาศ (6%) โดยเฉพาะเมื่อกระแสโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีมอบความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ผู้ขายและผู้กระจายสินค้าปลอมสามารถดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายผ่านร้านค้าออนไลน์ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันรายงาน Counterfeit and Piracy Watchlist 2018 ของคณะกรรมาธิการยุโรป ยังระบุว่า ตลาดซื้อขายสินค้าปกติซึ่งรวมถึงช้อปปิ้งมอลล์และตลาดนัดกลางแจ้งต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายชื่อดัง เปิดกว้างแก่สาธารณชนและตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กสำคัญ ทั้งยังมีบริการขนส่งมวลชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมีการจำหน่ายสินค้าปลอมในธุรกิจเหล่านี้ด้วยตราสินค้าที่แตกต่างกันมากมาย

หากคิดมูลค่าความเสียหายเฉพาะในสหภาพยุโรป ความเสียหายของรายได้รวมเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17.9 พันล้านยูโร และความเสียหายของรายได้รวมของรัฐอยู่ที่ 3.5 พันล้านยูโรในช่วงปี 2013-2017

ดังนั้นแล้วคุณจึงไม่ควรสนับสนุนสินค้าที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะสินค้าที่เข้าสู่ร่างกายของเรา แม้ว่าอาจจะทำให้คุณมีภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดี (แบบปลอมๆ) ในราคาที่แสนถูก อาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาว ก่อให้เกิดอันตรายของร้ายแรงถึงชีวิต จากสารเคมีปนเปื้อนรวมไปถึงโลหะหนักต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ผิวเกิดอาการแพ้ ระคายเคืองและหนักที่สุดก็คือเป็นสิวอักเสบเรื้อรัง หากใช้นานๆเข้าสารพิษเหล่านี้เมื่อสะสมในร่างกายมากๆ อาจจะทำให้เกิดโรคร้ายแรงตามมา ขณะเดียวกันยังเป็นภัยเงียบส่งผลกระทบถึงระบบเศรษฐกิจประเทศอย่างแสนสาหัส โดยที่ผู้บริโภคแบบเราไม่ทันได้รู้ตัว

และเพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการป้องกันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระดับภูมิภาค ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชียขอสนับสนุนให้คุณสนับสนุนความร่วมมือข้ามพรมแดน ในปัจจุบันในการปรับปรุงการบังคับใช้ IPR โดยแจ้งให้เพื่อนของคุณทราบถึงข้อเสียของการซื้อเครื่องสำอางปลอมและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการและแคมเปญนี้ได้ ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพปลอม พร้อมแนบรูปภาพหรือคลิปวิดีโอ และใส่แฮชแท็ก #YourHealthisPriceless #IPKeySEA #EUinThailand #EUForeignPolicy และแท็กถึงบัญชีทวิตเตอร์ @IPKey_EU หรือเพจเฟซบุ๊ก IP Key


ไม่มีความคิดเห็น