Breaking News

มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยืนยัน เรื่องขายหุ้นให้นักลงทุนจีนไม่เป็นความจริง


เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมกันแถลงยืนยันข้อเท็จจริง กรณีข่าว จีนกว้านซื้อหุ้นมหาวิทยาลัย โดยมี ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มอบหมายให้ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง , ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมแถลง ณ sports complex ชั้น 4 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี


ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี บุตรชาย อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่เคยได้รับการทาบทามจากนักลงทุนจีนในการขายหรือการโอนหุ้นของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีแต่อย่างใด ที่สำคัญมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงรายเเดียว และจดทะเบียนจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อ “ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” เท่านั้น การเข้ามาถือหุ้นของชาวต่างนั้นจึงไม่สามารถทำได้แน่นอน

นอกจากนี้ธุรกิจในเครือไม่ได้มีเฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังมีสถานศึกษาอื่น ๆ ในเครืออีก เช่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรียังมีความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างมากอีกด้วย


ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีพนักงานและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ1,000 คน นักศึกษารวมประมาณเกือบ 10,000 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจีน 300-500 คน มหาวิทยาลัยรับสมัครนักศึกษาตามระเบียบข้อบังคับ ไม่เพียงแต่รับสมัครนักศึกษาชาวจีนแต่ยังรับสมัครนักศึกษาจากประเทศแถบอาเซียน

เกี่ยวกับข่าวลือที่ว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจ่ายค่าเล่าเรียนก็สามารถเรียนจบรับใบปริญญา เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ตามหลักความเป็นจริงถ้าจ่ายเงินแล้วไม่มาเรียน สอบคะแนนไม่ผ่านตามเกณฑ์ก็ไม่สามารถเรียนจบตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดได้ ทางมหาวิทยาลัยของเราให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียนและเน้นคุณภาพการศึกษา


ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เป้าหมายของมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ความเชี่ยวเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยเรามีทีมบุคลากรการศึกษามืออาชีพ ไม่แพ้มหาวิทยาลัยอื่น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมี 16คณะ 58 หลักสูตร และในปี 2563 จะเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ เพิ่มเติม เพื่อรองรับนักศึกษาที่มีความต้องการที่หลากหลายอีกด้วย ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยยังมีความ “มั่นคง“ ในทุกด้าน และมีความพร้อมที่จะให้บริการด้านการศึกษาอย่างครบวงจรอีกด้วย ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยแม้กระทั่งเจรจากับนักลงทุนรายใดทั้งสิ้น และมุ่งมั่นจะทำเรื่องการศึกษาและทำมาตั้งแต่โรงเรียนมาเป็นวิทยาลัย ล่าสุดได้พัฒนามาจนเป็นมหาวิทยาลัย และเรายังมีวิทยาลัยอีก 2 แห่ง รวมถึงโรงเรียนสาธิตอีกด้วย

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่บางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยโดนนายทุนชาวจีนซื้อ ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า เราคิดว่าการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจ แต่ถ้าโดนนายทุนซื้อไปแล้ว ก็หวังว่าการเรียนการสอนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีทำงานด้านการศึกษาเป็นเวลา 40 กว่าปี ขอรับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติอย่างแน่นอน หวังว่ารัฐบาลจะให้ความใส่ใจต่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเอกชนด้านแนวนโยบายการรับนักศึกษาต่างชาติ


รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า จากความต้องการการศึกษาต่อต่างประเทศของจีนมีมาก ประเทศจีนแต่ละปีมีนักศึกษาที่จบมัธยมฯ สอบเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ประมาณ 30 % จากทั้งหมดปีละหลายสิบล้านคน เพราะฉะนั้น 20 ล้านคนจึงดูลูทางในการศึกษาต่อกับทางมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มมีรายได้สูงจะไปทางแถบตะวันตก ยุโรป อเมริกา
2. กลุ่มที่สองคือ เกาหลี ญี่ปุ่น
3. กลุ่มที่สามคือ กลุ่มปานกลาง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะเข้ามาเรียน จึงเป็นเหตุที่ทำให้นักธุรกิจจำนวนมากเข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยไทย ขณะนี้ก็ยังมี

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศจีน เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยใหม่ที่ขึ้นเวปไซต์ อันดับ ที่ 87 ซึ่งเป็นเวปไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการจีน ในมหาวิทยาลัยเอกชนไทยมีไม่กี่แห่งที่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่า ทางการจีนเขารับรองแล้ว


กรณีมหาวิทยาลัยอื่นได้ขายหุ้นให้กับนักลงทุนชาวจีน ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตอนนี้เปิดเสรีทางการค้า แต่อย่าไปมองว่าการศึกษาเป็นธุรกิจ ไม่เห็นด้วยกับการขายกิจการ เพื่อการศึกษาน่าจะเป็นกิจการของคนไทย แต่ถ้าจะมาซื้อก็คงต้องดูเรื่องคุณภาพ มาตรฐานต้องเป็นที่ยอมรับในนานาชาติด้วย แต่ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยสำหรับการขายกิจการ

แต่อย่างไรก็ตาม ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องตระหนักถึงการก้าวเข้ามาของทุนต่างชาติที่มาซื้อกิจการในไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นจะทำอย่างไร เราไม่ไปก้าวล่วง แต่สำหรับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ไม่มีแน่นอน ท่านอธิการบดีและลูกชาย ทำงานด้านการศึกษามาตลอดชีวิต กว่า 40 ปี


ไม่มีความคิดเห็น