Breaking News

วธ. ร่วมจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม


วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.00 น. พระพรหมวัชราจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม โดยมี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมในพิธี ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา
เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพร สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาคุณที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการ นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย พร้อมนำหลักธรรมจากบทสวดในพิธี มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชาชนมีความสามัคคี ปรองดอง ด้วยการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย


อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่ออีกว่า
การสวดมนต์ หรือ การเจริญพระพุทธมนต์ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตราย และทำให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์สวดด้วยความเคารพศรัทธา พร้อมกับแผ่เมตตา และทำใจให้สงบเป็นสมาธิ ก็จะทำให้พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การสวดพระปริตร หรือ พระพุทธมนต์ อันเกี่ยวเนื่องกับหลักโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ดาวนพเคราะห์ประจำวันทั้ง 9 คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันราหู (วันพุธกลางคืน) และวันที่สมมติอีก 1 วัน ที่มีนามว่า พระเกตุ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองบุคคลที่ไม่ทราบวันเกิด โดยหลักคัมภีร์ทางโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า ในวันทั้งเจ็ดนี้มีเทวดาคุ้มครองเกี่ยวข้องด้วยกำเนิดมนุษย์ อันอาจส่งผลให้เกิดคุณ เกิดโทษ ทำให้เกิดทุกข์ โศก โรคภัย หรือทำให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และอายุยืนยาวหรือสั้นได้ ซึ่งตามโบราณประเพณี เมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบปี นักษัตร หรือรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะได้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจาก โรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเครื่องหมายคนดีตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา




ไม่มีความคิดเห็น