Breaking News

ดีป้าเผยตัวเลขตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยปี 60 ทะยาน 25,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกมนำโด่งเกือบ 20,000 ล้านบาท คาดขยายตัวต่อเนื่อง


วันที่ 11 ธันวาคม 2561 เซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชัน และคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) และสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) เผยผลสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2560 ในประเทศไทย โดยครอบคลุมสามสาขาหลักได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ โดยผลสำรวจระบุทั้งสามอุตสาหกรรมมีมูลค่ารวมกันประมาณ 25,040 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมแอนิเมชันจำนวน 3,799 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตลดลง 4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ขณะที่อุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ารวมที่ 19,281 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงสุดถึง 18 เปอร์เซ็นต์และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์มีมูลค่ารวม 1,960 ล้านบาท มีอัตราการเติบเพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2559


ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า การสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2560 ได้มีการปรับปรุงกรอบประชากร และเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบางรายมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการทางธุรกิจ อีกทั้งได้มีการให้ศึกษาการวิเคราะห์ระบบนิเวศและห่วงโซ่ค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เพิ่มเติมรวมถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก และยังได้ให้ริเริ่มการศึกษาและสำรวจพฤตกรรมผู้เล่นเบื้องต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจัยทางตลาด กระแสนิยมต่าง ๆ ซึ่งโครงการสำรวจนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) และสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BKK SIGGRAPH)

ทั้งนี้ เนื่องจากดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมหลากหลายแขนง ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โทรทัศน์ การศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ และอื่น ๆ ประกอบกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านกระแสนิยม ความสนใจและพฤติกรรมของผู้บริโภค และการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผลการสำรวจมูลค่ารวมมีอัตราการเติบโตโดยรวม 14 เปอร์เซ็นต์จากปี 2559 และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มในการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีถัดไปจากตลาดเกมและคาแรคเตอร์

แนวโน้มการเติบโตในปี 2561 มูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยคาดว่าจะแตะระดับกว่า 27,005 ล้านบาท และมีมูลค่ากว่า 29,358 ล้านบาทในปี 2562 โดยสาขาอุตสาหกรรมแอนิเมชันถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ และยังคงการเติบโตเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 ขณะที่สาขาเกมคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 9 เปอร์เซ็นต์และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 สำหรับสาขาคาแรคเตอร์คาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 12 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 และ 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามการประเมินจากปริมาณงานที่ผู้ประกอบการกำลังผลิตรวมทั้งแนวโน้มและปัจจัยบวกต่าง ๆ ของตลาดที่คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมผอ.ดีป้า กล่าว

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยได้ ถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจประเภทการรับจ้างผลิตทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งในปี 2560 ตัวเลขผู้รับจ้างผลิตแอนิเมชันมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าแอนิเมชันทั้งหมด ส่วนผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าเกมมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดเกมทั้งหมด ขณะที่ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้าและดูแลสิทธิคาแรคเตอร์มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 92 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2560 ยังรายงานมูลค่าการผลิตและส่งออกงานแอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์ด้วยว่า มีมูลค่าถึง 1,851 ล้านบาท เป็นอัตราการเติบโตเทียบกับปีก่อนหน้า 50 เปอร์เซ็นต์โดยอุตสาหกรรมแอนิเมชันมีมูลค่าส่งออก 1,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 เป็น 81 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ว่าจ้างผลิตหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่สาขาเกมมีมูลค่าการส่งออกแตะที่ยอด 398 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าลดลงกว่าปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการส่งออก 435 ล้านบาท สำหรับสาขาคาแรคเตอร์มีมูลค่าการส่งออกรวม 25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ำที่มีมูลค่าส่งออก 14 ล้านบาท


ประเทศไทยยังคงพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าลิขสิทธิ์หรือรับจ้างผลิต ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยมีฝีมือและมีศักยภาพที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก การที่ผู้ผลิตไทยจะมีผลงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตัวเองมากขึ้น จะช่วยลดปัญหาการถูกกดราคาจากต่างประเทศ ลดอัตราการนำเงินออกไปนอกประเทศ และสามารถเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ดีป้าพร้อมจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และยกระดับคุณภาพผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันและเติบโตในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดความสนใจในอุตสาหกรรมแอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์ การส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดเพื่อการส่งออก ผ่านกองทุน depa Fund เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับสากลได้ ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์หน้าใหม่ ผ่าน Digital Startup Program ส่งเสริมและสนับสนุน Internationalization Voucher เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้ประกอบการมาพบปะแลกเปลี่ยน และต่อยอดไอเดีย ให้เกิดร่วมมือขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอน-เทนต์ และสร้างพลังในกรขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยต่อไปดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น