โครงการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมในยุควิถีถัดไปความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรงต่อวัยรุ่นไทยไร้บ้าน (Next Normal Innovation Collaboration for non-violence against Thais Homeless Teenager)”
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ทีมนักวิจัย และเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนา นวัตกรรมในยุควิถีถัดไปความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรงต่อวัยรุ่นไทยไร้บ้าน โดยทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทนายความ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และเครือข่ายประกอบด้วย มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด ทูบีนัมเบอรวัน สมุทรปราการ ครูข้างถนน มูลนิธิเกี่ยวกับเด็ก และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง นวัตกรรมในยุควิถีถัดไปความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรงต่อวัยรุ่นไทยไร้บ้าน
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เอื้อมณีกูล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการวิจัย “นวัตกรรมในยุควิถีถัดไปความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรงต่อวัยรุ่นไทยไร้บ้าน ประกอบไปด้วย 2 โครงการย่อย คือ โครงการพัฒนาต้นแบบการป้องกันความรุนแรงต่อวัยรุ่นไทยไร้บ้าน และโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม application เพื่อป้องกันความรุนแรงต่อวัยรุ่นไทยไร้บ้าน ที่ชื่อว่า ViP application นี้ Vi ย่อมาจาก Violence ส่วน P ย่อมาจาก Prevention รวมกันแล้วเป็น ViP application หรือ application เพื่อป้องกันความรุนแรงในวัยรุ่นไทยไร้บ้าน หรืออาจแปลแบบตรงๆ ได้อีกแบบว่า คุณคือคนสำคัญ application นี้จึงเรียกสั้นๆว่า ViP โดยคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเด็กวัยรุ่นไร้บ้านเป็นผู้กระทำรุนแรง แต่ในทางกลับกัน จากผลการสัมภาษณ์วัยรุ่นไร้บ้านจำนวน 33 คน และใช้แบบสอบถามกับวัยรุ่นไร้บ้าน จำนวน 165 คน พบว่าวัยรุ่นไร้บ้านเป็นผลผลิตของความรุนแรงจากสังคม โดยเฉพาะ การตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว เมื่อครอบครัวไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยต่อไปสำหรับเด็ก วัยรุ่นจึงจำเป็นต้องออกมาเร่ร่อนอยู่นอกบ้าน แต่การออกมาเร่ร่อนนอกบ้าน ยิ่งเพิ่มโอกาสและเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงมากขึ้น จากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยตามท้องถนน หรือใต้ทางด่วน หรือตามสถานที่สาธารณะอื่น เช่น ตามสถานีรถไฟ ตามทางรถไฟ แน่นอนว่า ไม่มีวัยรุ่นคนไหนอยากไร้บ้าน และไม่มีเด็กคนไหนควรถูกทอดทิ้งให้กลายเป็นคนไม่มีบ้าน
เนื่องจากเด็กวัยรุ่นเป็นระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ ระบบต่างๆที่ดูแลวัยรุ่นไร้บ้านจึงจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาการเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก โครงการวิจัยร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย NGOs และครูข้างถนน จึงได้ร่วมกันสรุปรูปแบบการป้องความรุนแรงต่อวัยรุ่นไร้บ้าน จัดทำคู่มือต้นแบบการป้องกันการถูกกระทำรุนแรง 8 คู่มือ และทดลองใช้กับวัยรุ่นไร้บ้าน จำนวน 25 คน พบว่า คะแนนทักษะการอยู่อย่างปลอดภัย และทักษะการสื่อสารเพื่อป้องกันความรุนแรง สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยรูปแบบ และคู่มือต้นแบบ 8 คู่มือนี้ จะถูกพัฒนาเป็นสื่อสำหรับสอนหรือดูแลวัยรุ่นไร้บ้าน ทั้งในรูปแบบ eBook, คลิป และ Animation ที่อยู่ใน ViP application สำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อไป
ด้านครูข้างถนน ซึ่งประกอบไปด้วย นางสาวนริศราภรณ์ อสิพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุน พัฒนาเด็กและวัยรุ่น มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) นายหรรษาวรรธน์ บัวพรม และ นายประสิทธิ์ พลมั่น นักพัฒนาสังคม ศูนย์สร้างโอกาสเด็กทุ่งครุสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โดยธรรมชาติ วัยรุ่นไร้บ้านเป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตอิสระ ในพื้นที่สาธารณะ จะอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีการกำหนดหมายในชีวิต ไม่ชอบอยู่ในกฎระเบียบไม่เห็นคุณค่าในตนเอง จะใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ในบางพื้นที่ วัยรุ่นไร้บ้านจับกลุ่มอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ไร้บ้านด้วยกัน บางรายก็จะอยู่คนเดียว เมื่อมีการจับกลุ่มอยู่ในพื้นที่นั้นๆ โดยใช้ชีวิตอิสระ ไม่มีคนคอยให้คำแนะนำ ในด้านทักษะต่างๆ วัยรุ่นไร้บ้านกลุ่มเหล่านี้ ก็จะมีการใช้สารเสพติด ถูกแสวงหาผลประโยชน์ จากผู้ไม่หวังดี เช่น การเป็นเหยื่อด้านถูกแสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ ถูกแสวงหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐห รือเป็นเหยื่อในความรุนแรง จากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ฯลฯ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว “ครูข้างถนน” ที่ทำงานกับวัยรุ่นไร้บ้าน ในแต่ละพื้นที่นั้น ก็พยายามที่จะนำกลุ่มวัยรุ่นไร้บ้าน เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เสริมทักษะต่างๆ เช่น การอยู่อย่างปลอดภัย การสื่อสารเพื่อป้องกันความรุนแรง การวางเป้าหมายในชีวิต และการเสริมคุณค่าในตนเอง เพื่อให้วัยรุ่นไร้บ้าน สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองได้
ส่วน นางสาวณัฐวดี ปิตตาทะโน นักจิตวิทยาปฏิบัติการ สำนักอนามัย กล่าวว่า วัยรุ่นไทยไร้บ้านจำนวนมาก มักผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เผชิญความรุนแรงในฐานะของผู้ถูกกระทำจากครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด ซึ่งส่งผลทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ทำให้มีมุมมองต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมบนโลกใบนี้ ที่มีความบิดเบือนไปจากความเป็นจริง กระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข นำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ขาดการคิดแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ทำให้วัยรุ่นไทยไร้บ้านต้องเผชิญกับการมีปัญหาสุขภาพจิต ใช้ยาและสารเสพติด มีความคิดเชิงลบ และไม่สามารถปรับตัวรับมือหรือเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ การให้ความช่วยเหลือเยียวยาและช่วยให้วัยรุ่นไทยไร้บ้านสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจให้เกิดสุขภาวะที่ดี (well – being) จึงต้องให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดความทุกข์ในจิตใจ ซึ่งกระบวนการหนึ่งที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการนำมาใช้กับกลุ่มวัยรุ่นไทยไร้บ้าน คือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการจัดการอารมณ์และความเครียด ทักษะทางสังคมและการสื่อสาร ช่วยลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ทำให้ปรับตัวเผชิญหน้าต่อสถานการณ์และปัญหาได้ นอกจากนี้การจัดกิจกรรมบำบัดสำหรับกลุ่มวัยรุ่นไทยไร้บ้าน จะช่วยเติมโอกาสจากการขาดการศึกษาและการขาดฝึกฝนสั่งสมทักษะทางอาชีพ เพื่อโอกาสในการมีงานทำและมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยต่อไป
ดร. วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ เปิดเผยว่า กฎหมายและเส้นทางการคุ้มครองสิทธิ เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกรณีวัยรุ่นไร้บ้านถูกกระทำรุนแรง คุณภาพชีวิตของวัยรุ่นไร้บ้านถือส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการพัฒนาสังคมของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องวัยรุ่นไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยผู้ให้การช่วยเหลือควรมีความรู้ในกฎหมายและเส้นทางการคุ้มครองสิทธิ
นางสาวพรภัส การะเกตุ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวสุพัตรา สีแสด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ นางสาวมยุรฉัตร ตางระแม กรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ระบบการรับเข้าบ้านพัก จะเน้นความต้องการของวัยรุ่นไร้บ้านเป็นสำคัญ โดยเชื่อมการเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการเด็ก เป็นการให้บริการแบบผู้ใหญ่ เนื่องจากวัยรุ่นไร้บ้านจะเป็นช่วงคาบเกี่ยว อายุระหว่าง 15-24 ปี ดังนั้นควรมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบ้านเปิด (องค์กรอิสระ หรือ NGOs) กับบ้านปิด (บ้านพักของรัฐบาล) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ส่วนการให้บริการเคลื่อนที่สำหรับวัยรุ่นไทยไร้บ้าน” หรือ“ONE STOP SERVICE” ควรเป็นการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แทนที่การติดต่อหลายแห่ง ทำให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกสบาย เนื่องจากโดยลักษณะของกลุ่มวัยรุ่นไร้บ้าน มีความเข้าถึงตัวยากและมีความซับซ้อนในเรื่องความคิดความเข้าใจ วัยรุ่นไร้บ้านหลายคนปฏิเสธขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ภายใต้ข้อตกลงต่างๆก่อนขอรับความเหลือ หรือบางคนกลัวการถูกปฏิเสธ จึงไม่กล้าขอความช่วยเหลือ ต้องอาศัยบุคคลอื่นนำพาเข้าไปให้การช่วยเหลือ
ด้าน นางสาวไพเราะ แจ่มจักษุ ทูบีนัมเบอร์วัน สมุทรปราการ กล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นไทยไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีบัตรประชาชน หลายคนเคยมีบัตรประชาชนแล้วหาย ไม่ต่ออายุบัตร และมีทั้งที่ไม่เคยมีบัตรประชาชนมาก่อนเลย เมื่อมีปัญหาสุขภาพ ก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นอกจากนี้การแนะนำหรือช่วยเหลือวัยรุ่นไร้บ้านให้ได้เข้าถึงการศึกษาแบบง่ายง่ายไม่ซับซ้อนทันกับยุคสมัย จะเปิดโอกาสให้วัยรุ่นไร้บ้านได้มีโอกาสใช้ความรู้ การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีมีศักดิ์ศรีทางสังคม วันนี้ถ้าเรามองว่าวัยรุ่นไร้บ้านคือต้นไม้ใหญ่จะให้ร่มเงากับคนในครอบครัวชุมชนและสังคมในอนาคต เราจำเป็นต้องปลูกต้นไม้พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำฟูมฟักเขาให้เกียรติและให้โอกาสเขาให้กลับสู่การศึกษา เพราะฉะนั้นการที่เราจะดำเด็กหนึ่งคนที่ก้าวพลาดให้กลับเข้ามาสู่การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
ดร. ชุติวัฒน์ สุวัตถิพงศ์ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า ViP Help Application เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการช่วยกันดูแลและป้องกันความรุนแรงต่อเด็กวัยรุ่นไร้บ้าน สำหรับวัยรุ่นไร้บ้าน องค์กรต่างๆ และคนทั่วไป โดยปุ่มต่างๆเป็นปุ่มที่วัยรุ่นไร้บ้านต้องการให้มี ได้แก่ ปุ่มแจ้งเหตุด่วน ปุ่มการป้องกันตนเอง ปุ่มสุขภาพ ปุ่มบางปุ่มอาจจะไม่ใช่การป้องกันโดยตรง แต่เป็นการป้องกันโดยอ้อม เช่น ปุ่มหน่วยงานรัฐ ปุ่มการศึกษา ปุ่มหางาน เนื่องจากการศึกษาเป็นหนทางของการมีงานที่ดีทำ เมื่อมีงานทำมีรายได้ เด็กวัยรุ่นไร้บ้านจะได้มีโอกาสเข้าถึงที่พักที่ปลอดภัย และไม่ต้องมาเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงซ้ำซ้อนตามท้องถนน เพื่อเด็กวัยรุ่นไร้บ้านจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน VipHelp ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งในระบบ IOS และ Android (ดาวน์โหลดได้โดยการค้นคำว่า Viphelp ลงในช่องค้นหา ของแต่ละ OS และ Scan QR Code ดังภาพ)
ไม่มีความคิดเห็น